Phones





TTBโชว์งบปี 64 ฟาดกำไร1.04 หมื่นล.

2022-01-20 16:22:45 265



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – TTB รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/64 ที่ 2,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรทั้งปี 64 อยู่ที่ 10,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปี 63 ด้านตัวเลข NPL อยู่ในระดับต่ำที่ 2.81% สำหรับปี 65 หวังผลกดันการเติบโตของสินเชื่อ เพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัล และนำเสนอบริการด้านการเงินที่ครบวงจร
 
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 4/64 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นและค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเนื่องจากสามารถลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลงมาอยู่ที่ 2.81% จาก 2.98% ในไตรมาส 3/64
 
ขณะที่หากเทียบกับไตรมาส 4/63 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 127% จากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองฯ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อเตรียมการล่วงหน้าสำหรับปี 64 แต่โดยรวมทั้งปีธนาคารยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงที่ 21,514 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 24,831 ล้านบาท ในปี 63 ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 64 อยู่ที่ 10,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้า
 
ทั้งนี้ แม้ปี 64 จะมีความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อแต่ธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ตามแผน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการรวมธนาคาร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ได้ตามกำหนด หรือเป้าหมายด้านการดำเนินงาน ซึ่งธนาคารยังคงยึดนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ไม่เร่งขยายสินเชื่อ ขณะเดียวกันก็เน้นปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อโดยการลดยอดสินเชื่อที่มีคุณภาพค่อนข้างอ่อนแอ ทั้งนี้ ก็เพื่อคงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินไว้สร้างการเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย
 
อย่างไรก็ตาม จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ธนาคารจึงเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นได้ 1.1% และโตสินเชื่อได้ 0.9% จากไตรมาส 3/64 ทั้งนี้ การเติบโตสินเชื่อยังคงเป็นไปตามนโยบายระมัดระวังและเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อ ด้านรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 4.4% จากไตรมาส 3/64 จากทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ขณะที่ด้านค่าใช้จ่ายนั้น ธนาคารสามารถรับรู้ผลประโยชน์ด้านต้นทุนจากการรวมกิจการได้ตามแผนและรักษาวินัยด้านค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย
 
ทั้งนี้ แม้การดำเนินนโยบายระมัดระวังจะส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อปี 64 ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับปี 63 แต่ในเชิงคุณภาพนั้นถือได้ว่าดีขึ้น บ่งบอกได้จากผลรวมของสินเชื่อชั้นที่ 2 หรือ สินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้านเครดิต และสินเชื่อชั้น 3 หรือ สินเชื่อด้อยคุณภาพที่ลดลงกว่า 7 พันล้านบาท หรือ ประมาณ 4.4% จากสิ้นปีที่แล้ว ซึ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับไปสู่ภาวะปกติ ธนาคารก็จะยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ต่อไป
 
ในส่วนของความเพียงพอของเงินกองทุนยังก็อยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคาร โดย ณ สิ้นปี 64 อัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.3% และ 15.3% ตามลำดับ ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5%
 
สำหรับปี 65 ธนาคารตั้งเป้ากลับมาเติบโตทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝาก แต่ก็แน่นอนว่าจะเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งหลังการรวมธนาคารและระบบต่าง ๆ เป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์แล้ว ในปีนี้ธนาคารก็พร้อมที่จะเปิดตัวและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการที่ครบวงจรได้ง่ายและสะดวกขึ้น เพื่อสร้างชีวิตการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งวันนี้และอนาคต พร้อมเดินหน้าต่อยอดธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลต่อไป