Phones





KKPกางแผนธุรกิจปีเสือ ลุย Wealth Management และบริการดิจิทัล

2022-01-31 19:47:48 294



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – KKP ประกาศแผนธุรกิจปี 65 วางเป้าสินเชื่อเติบโต 12% เน้นขยายกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อผู้บริโภค พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนในกลุ่ม Mass Affluent เดินหน้ารุกบริการทางการเงินแบบดิจิทัลผ่าน Dime ฟินเทคน้องใหม่ในกลุ่ม KKP
 
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 65 ธนาคารได้มีการตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ระดับ 12% โดยจะเน้นไปยังกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ และกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ซึ่งคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการที่ภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว หลังการแพร่ระบาดโควิด-9 อยู่ในระดับควบคุมได้ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
 
สำหรับธุรกิจด้านตลาดทุน และบริหารจัดการกองทุนมองว่ายังสามารถสร้างรายได้ให้กับธนาคารได้ดีมาต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความผันผวนจากปัจจัยต่างๆที่เข้ามา โดยธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มุ่งใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม ผลิตภัณฑ์ และ บริการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และวางเป้าขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลผ่าน KKP Dime ซึ่งจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในปีนี้ ปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) ที่ธนาคารบริหารให้กับลูกค้าอยู่ที่ 7.34 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะเติบโตได้ราว 15-20%
 
ทางด้านธุรกิจนายหน้าขายประกันผ่านสาขาของธนาคาร (Bancassurance) จะสร้างรายได้กลับมาได้อย่างดีจากการที่คนเริ่มมีรายได้กลับมามากขึ้น และในปีนี้ธนาคารจะหันมาเน้นการรุกด้านการขยายบริการด้านดิจิทัลเพื่อขยายฐานลูกค้า และ เพิ่มผลิตภัณฑ์บริการที่มีความหลากหลาย
 
ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 65 จะควบคุมให้ไม่เกิน 3.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 3% โดยแนวโน้ม NPL ที่สูงขึ้นมาจากการที่ธนาคารเน้นรุกการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ส่วนในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นผู้ประกอบการโรงแรม และ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังเผชิญความไม่แน่นอน และปัจจุบันยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือประมาณ 50% โดยตอนนี้ลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรมที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือนั้น ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี หลังเริ่มมีรายได้จากการนำโรงแรมไปทำ Hospitel และ ผู้ประกอบการบางรายนำโรงแรมไปเข้าโครงการ Asset warehousing รวมกว่า 1 พันล้านบาท 
 
“หากปีนี้เศรษฐกิจเติบโตได้ 3.9% เกือบๆ 4% เราก็จะเห็นภาพที่ดีต่อการฟื้นตัวของผลประกอบการ และ ถ้าแนวโน้ม Credit cost ลดลง การตั้งสำรองปีนี้ก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งในปีก่อนเรามีสำรองส่วนเกินอยู่สูง และ มี Coverage ratio สูงถึง 175% โดยเราสามารถนำกลับมาคืนเป็นผลประกอบการได้ หากสถานการณ์ต่างๆดีขึ้น” นายอภินันท์ กล่าว
 
ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อโอไมครอนในไตรมาสที่หนึ่ง น่าจะมีผลกระทบในช่วงสั้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ การกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป แต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และ การท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และ ยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับ 3.9% ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน
 
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อระบบสาธารณสุข และโรคที่จะเปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยสัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทย และต่างประเทศ ช่วยลดความรุนแรงของโรค และ ผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น
 
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศมาจากสภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลง และอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และ อัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
 
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังการกลับสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ในประเทศ และ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ เงินเฟ้อในประเทศไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.5% ในไตรมาส 1/65 จากต้นทุนพลังงาน และ ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพ ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะยังคงให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ และ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนค่าเงินบาทมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด