Phones





EXIM BANK ปล่อยกู้ 1.2 พันล. แก่ SSP เพื่อลงทุนพลังงานทดแทน

2022-02-01 18:56:28 401



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินจำนวน 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,287 ล้านบาท สนับสนุน “เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น” นำไปขยายการลงทุนและเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม และโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา ในอินโดนีเซีย
 
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินจำนวน 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,287 ล้านบาท ให้กับบมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SSP เพื่อสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวมกว่า 50 เมกะวัตต์ (MW) ที่จังหวัดกว๋างหงาย เวียดนาม และโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) กำลังการผลิตรวมกว่า 30 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย
 
ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการสนับสนุนโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในโครงการพลังงานทดแทนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและนโยบายของภาครัฐในการสร้างหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา ควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
 
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน อัตราการขยายตัวกว่า 50% ต่อปี ขณะที่กลุ่ม SSP เป็นนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับแผนความร่วมมือด้านพลังงานภูมิภาคอาเซียนที่กำหนดนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วน 35% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมภายในปี 68
 
“EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนของไทย ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลกโดยรวม ภายใต้ความร่วมมือในหลายมิติกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ลูกค้าที่มีศักยภาพให้เกิดการขยายธุรกิจและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ภายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในท้องถิ่นและประชาคมโลกในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว