Phones





EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อ ESG แก้ปัญหาโลกร้อน

2022-02-22 16:01:08 340



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - EXIM BANK ชี้ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น เพิ่มต้นทุนทางธุรกิจมากขึ้น พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เร่งขยายสินเชื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ช่วยธุรกิจไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
 
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งทั่วโลก กระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน บั่นทอนการพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วน โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่า ภายในปี 93 ภาวะโลกร้อนจะเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อโลกถึง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (EU) กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีกลไกการทำงานที่เรียกว่า กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) กำหนดหลักการลดความได้เปรียบด้านต้นทุนของสินค้านำเข้าจากประเทศนอก EU ขณะที่สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการที่มีแนวทางการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามการปล่อยคาร์บอน มาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจและ Supply Chain ของระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ส่งออกของแต่ละประเทศ รวมถึงผู้ส่งออกไทย ต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย
 
อย่างไรก็ตาม EXIM BANK ในฐานะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาประเทศและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จึงได้กำหนดและดำเนินนโยบายด้านการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ มุ่งสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (Environmental, Social, Governance : ESG) และธุรกิจที่มุ่งให้เกิดผลตอบแทนทางการเงิน ควบคู่กับผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ ธุรกิจสีเขียว และพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทนมากกว่า 194 โครงการ กำลังการผลิต 6,455 MW โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินรวม 57,392 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุน 373,572 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน EXIM BANK มีสัดส่วนการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวประมาณ 1 ใน 3 ของยอดคงค้างสินเชื่อโดยรวม
 
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวตามหลัก ESG และมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ “สินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan” สนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 7 ปี และ “สินเชื่อ Solar Orchestra Loan” โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด และบริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อสนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา พร้อมขึ้นทะเบียนขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการไทย ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก EXIM BANK 100% ของมูลค่าการลงทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 7 ปี
 
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา EXIM BANK ยังมีส่วนริเริ่มและผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยการเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้งและกรรมการในองค์กรต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว อาทิ Thailand Carbon Neutral Network, Carbon Market Club และ RE100 Thailand Club ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Net Zero) รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อสนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจที่มีส่วนลดหรือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
 
“EXIM BANK พร้อมใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ในการออกแบบและให้บริการเพื่อซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันทางธุรกิจได้ในระยะยาว ควบคู่กับการเสริมสร้างการพัฒนาสังคมและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นก้าวแรกของการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและฟื้นธุรกิจในโลกยุค Next Normal ได้เร็วที่สุด และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือขนานใหญ่ของทุกภาคส่วนและทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่และดีกว่าเดิมในวันข้างหน้า” ดร.รักษ์ กล่าว