Phones





GULF ลงนามใน Tariff MOU กับ CDTO รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng

2022-04-25 19:41:43 4591




นิวส์ คอนเน็คท์ - GULF ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับ CDTO ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน เรื่องการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng ใน สปป.ลาว

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ว่า บริษัทฯ และ China Datang Overseas Investment Co.,Ltd. (CDTO) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งนับเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการที่ 2 ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงนาม Tariff MOU ต่อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay ที่ได้แจ้งให้ทราบไปเมื่อวันที่24 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะดำเนินการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ใน Datang (Lao) Pakbeng Hydropower Co., Ltd. (บริษัทร่วมทุน) จาก CDTO เพื่อพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว โดยบริษัทฯ และ CDTO จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 49% และ 51% ตามลำดับ ทั้งนี้ โครงการฯ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว มีกำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในวันที่ 1 ม.ค. 2576 โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งบริษัทร่วมทุนจะดำเนินการเจรจารายละเอียดเงื่อนไข และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับ กฟผ. ในลำดับถัดไป

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการฯ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) ที่ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออก ดังนั้น โครงการฯ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง

การเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ภายหลังการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ โดยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยบริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) โดยจะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และทิศทางพลังงานโลกที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อต่อต้านผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ