Phones





เงินเฟ้อมิ.ย.65 พุ่ง7.66%สูงสุดในรอบปี ต้นทุนพลังงานแพง

2022-07-05 12:34:22 1525




นิวส์ คอนเน็คท์ - พาณิชย์เผย เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.65 เพิ่มขึ้น 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบปี และสูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง เหตุได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา และกลุ่มอาหารเพิ่มสูงขึ้น คาดแนวโน้มไตรมาส 3 ยังสูง ทั้งปียืนเป้าที่ 4-5% ส่วนจะปรับหรือไม่ ขอดูสถานการณ์ก่อน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิ.ย.2565 เท่ากับ 107.58 เทียบกับพ.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.90% เทียบกับเดือนมิ.ย.2564 เพิ่มขึ้น 7.66% แต่ก็ยังต่ำกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8% ส่วนเงินเฟ้อรวม 6 เดือนปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 5.61% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.99 เพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 2.51% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2564 และเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.85%
     
ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้น 7.66% เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ นับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี มาตั้งแต่เดือนก.พ.2565 ที่เพิ่มขึ้น 5.28% มี.ค.2565 เพิ่ม 5.73% เม.ย.2565 ชะลอตัวลง แต่ยังเพิ่ม 4.65% และ พ.ค.2565 เพิ่ม 7.1%

 สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ปัจจัยหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 39.97% โดยน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มสูงถึง 39.45% ค่าไฟฟ้า เพิ่ม 45.41% ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 12.63% ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 6.42% โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่เป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิต โลจิสติกส์ และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ เบียร์ สุรา และค่าโดยสารสาธารณะ
   
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญหลายรายการลดลง เช่น กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ผลไม้สด เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง กลุ่มสื่อสาร เช่น ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ และค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
     
นายรณรงค์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่จะเป็นอัตราเท่าใด ยังประเมินไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น และยังมีหลายปัจจัยที่จะกระทบเงินเฟ้อ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ราคาน้ำมัน ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวฟื้นตัว ที่มีผลต่อกำลังซื้อ ค่าเงินบาทอ่อนก็มีผล ทำให้คาดการณ์ได้ลำบาก ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี ยังคาดการณ์เหมือนเดิมอยู่ที่ 4-5% มีค่ากลาง 4.5% ส่วนจะปรับหรือไม่ ขอรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน
     
สำหรับการหยุดยั้งเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตามหลักการ ก็ถูกต้อง แต่เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน เกิดจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคที่เข้ามากระทบ ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ย ต้องพิจารณาว่าจะเป็นบวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน