Phones





กรุงไทย จัดกิจกรรมปลูกป่ากันชนช้างเพื่อเกษตรชุมชน เฉลิมพระเกียรติ

2022-07-27 19:38:38 377



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - กรุงไทย มอบเงินสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนคชานุรักษ์ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมจัดกิจกรรมจิตอาสปรับสภาพภูมิทัศน์และปลูกพืชแนวกันชนช้าง เพื่อพัฒนาผืนป่าและชุมชน
 
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ธนาคารได้มอบเงินสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 1,260,000 บาท โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วย ดร.สุทัศน์ วีสกุล กรรมการบริหาร ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ และ พลอากาศตรี วีระพันธ์ ภูวจินดา กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 26 ก.ค.65 ณ ทำเนียบองคมนตรี
 
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสา โดยได้รับเกียรติจาก นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงานจิตอาสาของธนาคารที่รวมพลังกับชาวบ้านในชุมชน ภาคีเครือข่ายและนักเรียนกว่า 300 คน ร่วมกันกำจัดวัชพืช ปรับปรุงพื้นที่แนวปะทะระหว่างช้างและชุมชน โดยร่วมกันปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารของช้าง อาทิ สะเดา ขี้เหล็ก ชะอม เพื่อเป็นแนวกันชนช้างให้กับแปลงเกษตรชุมชน หมู่บ้านคชานุรักษ์บ้านหนองกระทิง และหมู่บ้านคชานุรักษ์บ้านคลองมะหาด จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อภาคตะวันออกที่ประสบปัญหาการรุกรานจากช้างป่า โดยใช้กุศโลบายการปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบเป็นแนวกันชนบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชนและปลูกพืชแหล่งอาหารช้างบริเวณป่าธรรมชาติ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ช้างป่าหากิน และให้เกษตรกรในชุมชน สามารถเก็บผลผลิตไปจำหน่ายเป็นรายได้ สร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและช้างป่า
 
ธนาคารกรุงไทยมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และปฏิบัติตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ โดยให้ความสำคัญกับการทำประโยชน์เพื่อชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเอง ตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย ติดปีกไทย สู่ความยั่งยืน อันเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 
 
นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พื้นที่ชุมชน 5 จังหวัดภาคตะวันออก มีช้างป่าอาศัยอยู่ถึง 460 เชือก โดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรามากกว่า 300 เชือก ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองกระทิง และชุมชนบ้านคลองมะหาด ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และเข้ามาทำความเสียหายในพื้นที่ทำกิน ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการคัดเลือกให้เป็น “หมู่บ้านคชานุรักษ์” เพื่อนำร่องสร้างความเข้าใจพฤติกรรมช้างป่าให้แก่ประชาชนในพื้นที่
 
โดยกำหนดเขตดำเนินการเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตของช้างหรือเขตอนุรักษ์ เขตแนวกันชน และเขตชุมชน รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชการเกษตรที่ช้างไม่ชอบ นอกจากเป็นการสร้างป่ากันชนตามธรรมชาติแล้วยังสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชน
 
ด้านดร.รอยล จิตรดอน กรรมการมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ โดยได้ดำเนินการวิจัยพฤติกรรมของช้างป่าและพบว่าช้างป่าจำนวนมากออกจากป่าธรรมชาติเนื่องจากป่าบางพื้นที่มีความหน่าแน่นมากจนเกินไป และได้ทดลอง เก็บผลสำรวจชนิดของพืชและสัตว์ที่ช้างไม่ชอบเพื่อสร้างเขตพื้นที่กันชน อาทิ การปลูกพืชการเกษตรบางชนิด หรือการเลี้ยงผึ้งเพื่อกันช้าง และนำน้ำผึ้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยในปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 51 หมู่บ้านใน 5 จังหวัด
 
กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาปลูกพืชแนวกันชนเพื่อเกษตรชุมชน เปิดโอกาสให้จิตอาสาของธนาคารและอาสาสมัครนักเรียน ได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของชุมชน และปลูกฝังจิตสำนึกให้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน