Phones





KTB คาดศก.ไทยโต 3.2% ชี้ศก.โลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

2022-08-16 19:27:07 625



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – KTB ประเมินเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3.2% และ 4.2% ในปี 65 และ 66 ตามลำดับ ภายใต้ความท้าทายใหม่จากเศรษฐกิจภายนอกที่ชะลอตัวและภายในที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง หรือเป็น “The New K-shaped Economy” -ขณะที่มองเศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เผชิญปัจจัยลบหลายด้าน แนะธุรกิจให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง 
 
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว สถานการณ์เงินเฟ้อโลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 3.3% ปลายปีนี้ คาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดจะสามารถนำไปสู่ Soft Landing ได้
 
ด้านเศรษฐกิจไทยนั้น Krungthai COMPASS ประเมินว่าได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีกว่าคาด โดยเศรษฐกิจในปี 65 มีแนวโน้มขยายตัว 3.2% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.0% และปี 66 ขยายตัวที่ 4.2% ด้านเงินเฟ้อนั้น คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจาก 5.6% ในครึ่งปีแรกเป็น 6.6% ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6.1% ก่อนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.0% ในปีหน้าจากการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ระดับ 1.25% ในสิ้นปี 65 และ 2.00% ในสิ้นปี 66
 
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเป็น “The New K-shaped Economy” โดยปัจจัยเสี่ยงใหม่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนสูง ทำให้ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมาอย่างธุรกิจส่งออกเผชิญความท้าทายมากขึ้น ขณะที่ข้อจำกัดจากโควิด-19 ที่ทยอยหมดไปเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจในประเทศฟื้นตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้จะฟื้นสู่ระดับ 8.1 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 6.4 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 21.3 ล้านคนในปี 66 หรือครึ่งทางของภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนได้รับอานิสงส์ของภาพรวมที่ดีขึ้นไม่มากนัก จึงยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจช่วยประคับประคองต่อไป
 
ดร. ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะทำให้การส่งออกในระยะข้างหน้าแผ่วลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้สูงถึง 12.7% โดยการส่งออกในปี 65 จะขยายตัวที่ 7.5% ส่วนในปี 66 จะขยายตัว 2.5% โดยในระยะข้างหน้าจะต้องจับตาการทบทวนการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯต่อจีน ซึ่งสหรัฐฯ อาจจะปรับลดหรือยกเลิกภาษีสินค้าบางรายการในกลุ่มสินค้าขั้นกลาง เช่น พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เฟอร์นิเจอร์ โดยสินค้าเหล่านี้รวมกันคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบและต้องแสวงหาตลาดอื่นทดแทน
 
ขระที่ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือ วิกฤตการณ์ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในเอเชีย ได้แก่ ลาว เมียนมา ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศร่วมภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกับไทย หากรวมสัดส่วนการส่งออกของไทยไปทั้ง 4 ประเทศแล้ว จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 3.79% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมประมาณ 2.39% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย Krungthai COMPASS มองว่า ความเสี่ยงดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังหากปัญหาข้างต้นบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต
 
ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนผ่านดุลบัญชีเดินสะพัด และทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเมินว่าค่าเงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีนี้ อยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนปีหน้าประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและทิศทางการทยอยอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จะส่งผลให้ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 66 มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 33.50-33.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยช่วงครึ่งหลังของปี 66 คาดว่าเงินบาท ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์
 
โดยจากมุมมองทั้งหมดข้างต้น Krungthai COMPASS ประเมินว่า ปี 65-66 นี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญการบริหารความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นเป็นการบริหารต้นทุนจากภาวะเงินเฟ้อสูงและการป้องกันผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนในระยะยาว ภาคธุรกิจต้องรู้เท่าทันและปรับตัวสอดรับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปตามวิถีใหม่ โดยเฉพาะการที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions และการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ในทางธุรกิจได้อีกด้วย