Phones





ไทยไฟฟ้าล้นมือ กฟผ.เล็งขายให้เพื่อนบ้าน

2019-11-04 17:41:26 302




นิวส์ คอนเน็คท์ - กฟผ.เร่งเจรจาซื้อขายไฟฟ้าตามกรอบทวิภาคี ไทย-กัมพูชา และทย-เมียนมา คาดไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ลุ้นปิดดีลแรกกัมพูชา มั่นใจเสร็จก่อนปี 2565 เชื่อไม่กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ


เมื่อเร็วๆ นี้ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้รับมอบนโยบายจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้นำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากในประเทศไทยไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการเจรจาดำเนินการในรูปแบบการซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) กับ กัมพูชา และเมียนมา เบื้องต้น คาดว่าจะมีปริมาณซื้อขายไฟฟ้าจากทั้ง 2 ประเทศไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อสรุป กฟผ.อาจจะต้องมีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเพิ่มเติมในบางเส้นทางเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว แต่จะสร้างในพื้นที่ใดนั้นยังจะต้องรอผลการศึกษาปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของแต่ละประเทศที่ชัดเจนก่อน โดยการเจรจาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะช่วยประสานงานในเรื่องนี้ด้วยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น และน่าจะดำเนินการได้ก่อนปี 2565


สำหรับรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้านั้น จะเป็นลักษณะการซื้อขายระหว่างประเทศกับประเทศ ภายใต้กรอบทวิภาคี (Bilateral) ซึ่งต่างจากกรอบข้อตกลงของอาเซียน เรื่องการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN Power Grid) ซึ่งจะเป็นลักษณะการซื้อขายไฟฟ้ากันโดยที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางส่งผ่านไฟฟ้าไปยังแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ การหารือแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาในการประชุม “รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (AMEM) ครั้งที่ 37 ที่ผ่านมาไทยได้มีข้อเสนอจะขายไฟฟ้าให้กับกัมพูชา ซึ่งจะมอบหมายให้ กฟผ. ทำความร่วมมือในเรื่องนี้ต่อไป คาดว่าจะเกิดข้อตกลงในเร็วๆนี้ ซึ่งเบื้องต้น ความร่วมมือผลิตไฟฟ้านั้นจะมีทั้งจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน อย่างไรก็ตามสำหรับการซื้อขายไฟฟ้ากับทั้ง 2 ประเทศจะตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในด้านทางเทคนิค ปริมาณ และราคาในการซื้อขายไฟฟ้า


อย่างไรก็ตาม หากมีนโยบายให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประมาณ 500-1,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ไทยสามารถเจรจาขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านได้ราว 500 เมกะวัตต์ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ แม้ว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจากระบบเดิมปัจจุบบันจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกว่า 2 บาทต่อหน่วย เทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะรับซื้อขายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน รวมค่าไฟฟ้าฐานแล้วอยู่ที่ประมาณ 4-5 บาทต่อหน่วย ก็ไม่ส่งผลกระทบนัก เพราะอัตรารับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 500-1,000 เมกะวัตต์ดังกล่าว เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมของทั้งประเทศ อยู่ที่ประมาณ 2-3 เมกะวัตต์ ก็จะไม่มีผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมมากนัก

#กฟผ.
#การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
#พัฒนาแสงศรีโรจน์
#ขายไฟเพื่อนบ้าน