Phones





กกพ.พร้อมออกใบอนุญาตนำเข้าก๊าซให้GULF

2019-11-05 14:56:48 324




นิวส์ คอนเน็คท์ - กกพ.พร้อมออกใบอนุญาตนำเข้าก๊าซให้ GULF ในฐานะชิปเปอร์ ผู้ได้รับสิทธิ์ลงทุนโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 พร้อมเร่งปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ รองรับแผนส่งเสริมเปิดเสรีเต็มรูปแบบ นำเสนอ กพช.พิจารณาพ.ย.-ธ.ค.นี้


เมื่อเร็วๆ นี้ แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. พร้อมออก
ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติ หรือ ผู้ใช้บริการ (Shipper) ให้กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ในฐานะผู้ชนะประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 (ช่วงที่ 1) หากทาง GULF ยื่นเรื่องขอเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซฯ ต่อ กกพ.แต่ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเรื่องเข้ามาแต่อย่างใด ทั้งนี้การยื่นเรื่องของใบอนุญาตนั้นไม่มีกรอบระยะเวลากำหนดพร้อมเมื่อไหร่ก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตเข้ามาได้


“จากมติเดิมของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2562 กบง.มีมติเห็นควรให้ กกพ.พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง (ใบอนุญาตเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเป็นของเหลวเป็นก๊าซ และใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ) ให้กับเอกชนที่ได้รับสัมปทานโครงการมาบตาพุด ระยะที่ 3 จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่ง GULF ยังไม่ยื่นเข้าขอใบอนุญาต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตเพียง 2 ราย คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น”


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเปิดเสรีก๊าซดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาถึงแนวทางส่งเสริมกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ เพื่อรองรับแผนการเปิดเสรีก๊าซ ให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาแข่งขันในธุรกิจก๊าซได้ง่ายขึ้น แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีแผนเปิดเสรีกิจก๊าซฯออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดังนั้น กกพ.จะต้องดูว่าโครงสร้างกิจการก๊าซฯในอนาคตควรจะต้องมีการกำหนดรูปแบบอย่างไร และอาจจะต้องปรับปรุงโครงสร้างฯในปัจจุบันที่มีอยู่แล้วเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเบื้องต้น คาดว่าจะสามารถนำเสนอแผนส่งเสริมกิจการก๊าซฯ รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาได้ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้


#กกพ.
#คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
#GULF
#กัลฟ์เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์
#เปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ