Phones





SAK ร่วมทุน ทีซี รีนิวอะเบิ้ล รุกธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปที่อยู่อาศัย

2023-01-08 19:48:29 149



นิวส์ คอนเน็คท์ - SAK ร่วมทุน ‘ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่’ จัดตั้งบริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บุกธุรกิจติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป พร้อมให้บริการด้านสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัย สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก 

นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้แบรนด์ ‘สินเชื่อศักดิ์สยาม’ เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อสังคม เป็นแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ล่าสุด SAK เดินหน้าส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ภายในครัวเรือน เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในครัวเรือนสู่ความยั่งยืน จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมทุนกับ บริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์รูฟท็อปชั้นนำของประเทศไทย จัดตั้งบริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดย SAK ถือหุ้น 35% และบริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้น 65% คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายในม.ค. 2566  

ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญการขยายการให้บริการสินเชื่อเพื่อการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัย สนับสนุนภาคประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดได้ง่าย และกว้างขวาง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการออกแบบและติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปมากว่า 10 ปี ให้กับภาคธุรกิจ โรงงาน สถานศึกษา มากกว่า 230 โครงการ หรือมากกว่า 14 เมกกะวัตต์ ทำให้เกิดการ Synergy นำจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ที่มีคุณภาพและมาตรฐานในราคาที่เข้าถึงได้ ส่งผลดีต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าภาคครัวเรือนในระยะยาว ตลอดจนลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับโลก 

ทั้งนี้ บริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จะดำเนินธุรกิจติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัย โดย SAK จะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการตลาดและให้บริการสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อปให้แก่ประชาชนที่สนใจผ่านสาขาของศักดิ์สยามลิสซิ่งที่มีมากกกว่า 1,029 สาขา ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในไตรมาส 1/2566 และผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อของศักดิ์สยามลิสซิ่งมีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง 

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา SAK มีความมุ่งมั่นเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อสังคม ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบโจทย์สังคมไทย เพื่อช่วยเหลือประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนรวมถึงนำเสนอสินค้าและบริการอื่นๆ ที่ดี ซึ่งในภาวะที่ค่าสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น เรามั่นใจว่าสินเชื่อเพื่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทำให้เศรษฐกิจภาคครัวเรือนเกิดความเข้มแข็ง” นายศิวพงศ์ กล่าว  
นายภูฤทธิ์ เล้าเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า การร่วมทุนในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบและติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจไปสู่การให้บริการแก่ภาคครัวเรือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือนตั้งแต่ 2,000 - 7,000 บาท อีกทั้งยังมีบริการดูแลรักษาตัวแผงโซลาร์เซลล์และคอยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบตลอดการใช้งาน โดยมีทีมวิศวกรคอยตรวจสอบการทำงานของระบบ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในระยะยาว  

“จุดเด่นของของแผงโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัยมีทั้งหมด 2 ระบบ แต่ที่นิยมการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเป็นระบบ On Grid ที่ต้องเชื่อมโครงข่ายหรือต่อคู่ขนานกับการไฟฟ้า ซึ่งโดยปกติแล้วการติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าโดยเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 70% ต่อรอบบิล และหากผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์เกินความต้องการใช้งานไฟฟ้าเวลากลางวัน เจ้าของมิเตอร์ยังสามารถขายคืนไฟฟ้าส่วนเกินให้กับภาครัฐได้” นายภูฤทธิ์ เล้าเจริญ กล่าว 

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป นับเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและเติบโตสูง เนื่องจากสอดรับนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมภาคธุรกิจและภายในครัวเรือนใช้พลังงานสะอาด โดยคาดการณ์ว่าตลาดโซลาร์รูฟท็อปในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2568 (อ้างอิงจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics) ซึ่งการผนึกกำลังกับศักดิ์สยามลิสซิ่ง ผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อสังคม วางเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัยภายใน 3 ปีข้างหน้า ไม่น้อยกว่า 100,000 ครัวเรือน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 500 เมกะวัตต์