Phones





ตลท. กางแผน 3 ปี ผุดกลยุทธ์ 4 ด้าน ขับเคลื่อนตลาดทุนไทย

2023-01-10 10:35:53 63




นิวส์ คอนเน็คท์ - ตลท.เปิดแผนปี 66-68 ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาด ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อน พร้อมเชื่อมระบบนิเวศการลงทุนปัจจุบันกับอนาคตอย่างครบวงจร 

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้านี้ (2566-2568) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน

ด้านที่ 1 ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย (Make fundraising & investment simple) โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่กระบวนการให้ข้อมูลและเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ และจะมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ จะพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัลทั้ง investment token และ utility token ในไตรมาส 3/2566

เพิ่มโอกาสการลงทุน มุ่งเพิ่มความหลากหลายด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากสำหรับผู้ลงทุนรายเล็ก รวมทั้งศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment-linked) และการขยายเวลาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเปิดบัญชีลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดทุนที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มของ Settrade เพื่อเป็น “Capital Market Super App” ในการเชื่อมต่อโอกาสการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้านที่ 2 ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม (Move industry & ecosystem with standard) พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและระบบซื้อขายใหม่

ด้านที่ 3 ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด (Match partners for synergy) พัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลและฟังก์ชันที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยแบบ Thematic และ Issue-based เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาตลาดทุนด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จะมีการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนมาไว้บน ESG Data Platform โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลได้ในไตรมาส 2/2566 นอกจากนี้ จะพัฒนาการจัดทำ ESG Ratings เพื่อสนับสนุนการออกสินค้า ESG-Linked

ด้านที่ 4 ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน (Merge ESG with substance) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำมิติด้าน ESG ขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายใน และภายนอกองค์กรโดยทำงานร่วมกับพันธมิตร นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับกรณีหลังจากที่ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ได้รับการเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ในรอบครึ่งแรกของปี 2566 ทั้งนี้ส่งผลให้เกิดแรงเก็งกำไรในหุ้น DELTA มาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ราคาหุ้นของ DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 990 บาทต่อหุ้น และทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปมากที่สุดในตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าประเด็นดังกล่าว จุดที่สำคัญคือวิธีแก้ไขดังกล่าวมีหลายวิธี ซึ่งปัจจุบันกำลังหาวิธีที่ไม่กระทบกับบริษัทอื่นมาก เพราะว่าเกณฑ์ดังกล่าวนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ แต่ปัญหาคือจะแก้ไขอย่างไร แล้วให้ผลกระทบกับบริษัทธรรมดาให้น้อยที่สุดได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความเชื่อมั่นในตลาดทุน โดยพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ในแต่ละตลาด เช่น SET,mai และ LiVEx ประกอบกับพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคา และส่งมองหลักทรัพย์ รวมถึงพิจารณาปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล และแก้ไขกฏเกณฑ์ใช้ข้อมูลที่สำคัญ เช่นข้อมูลการถือครองหุ้น และรวมศูนย์ข้อมูลการติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์ในด้านต่างๆ อีกทั้งพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ขั้นตอนการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่นๆ