Phones





EXIM BANK ปักเป้ายอดสินเชื่อ 1.2 แสนล. แย้มแผนซื้อ ‘IB House’

2023-01-30 23:27:10 1045



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – EXIM BANK เปิดแผนธุรกิจปีกระต่าย เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตในเวทีโลก พร้อมช่วยหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลางและเอเชียใต้ วางเป้ายอดสินเชื่อใหม่ปี 66 ไว้ที่ 1.2 แสนล้านบาท แย้มแผนเพิ่มช่องทางรายได้จากค่าธรรมเนียม มองหาโอกาสซื้อธุรกิจ “IB House”
 
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566  ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารในปี 2566 ยังคงมีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตต่อเนื่องทั้งในเรื่องของผลประกอบการ และการผลักดันผู้ประกอบการของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในเวทีโลก ด้วยการส่งเสริมการบุกตลาดการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพและยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล รวมถึงการหาโอกาสในตลาดในใหม่ๆที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
 
ทั้งนี้ ในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ราว 120,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ราว 94,400 ล้านบาท โดยธนาคารจะยังชูนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-circular-Green Economy) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับมีความกล้าและความพร้อมที่จะเข้าสู่ Supply Chain การส่งออก การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ๆที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่
 
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และบริการทางการเงินต่างๆอย่างครบวงจร รวมทั้งยังเดินหน้าโครงการ The S1 (SMEs One) ที่มีการร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และล่าสุดที่ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆของไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาระดับ NPL ของธนาคารอยู่ที่ 2.90% ขณะที่ในปี 2566 วางเป้าหมายควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3% โดยตามปกติธนาคารมีระดับ NPL ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆก็ตาม แต่ธนาคารยังมีการบริหาร NPL ด้วยการตัดขายออกไป ซึ่งจะมีการตัดขาย NPL โดยเฉลี่ย 2 ปีต่อครั้ง
 
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้บทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” โดยมียอดคงค้างสินเชื่อ 168,331 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ธนาคารเปิดดำเนินงาน และสูงกว่าระบบธนาคารถึง 2 เท่า โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,737 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,504 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
 
ขณะที่ในปี 2566 ธนาคารคาดว่าจะสามารถผลักดันกำไรสุทธิขึ้นสู่ระดับ 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของสินเชื่อ รวมถึงการหาโอกาสในการสร้างรายได้จากช่องทางอื่นๆนอกจากการปล่อยสินเชื่อ โดยปัจจุบันธนาคารให้ความสนใจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการแนะนำไปขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น โดยธนาคารจะสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมได้เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการมองหาทีมงานที่เชี่ยวด้านที่ปรึกษาทางการเงิน รวมถึงพร้อมพิจารณาโอกาสในการเข้าซื้อ IB House