Phones





BAY ประเมินกรอบเงินบาท 34.90-35.70 ลุ้นข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ

2023-07-03 16:44:04 130



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.90-35.70 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดรายงานประชุมเฟดเมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย. และข้อมูลจ้างงานเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ คาดมีกระทบต่อการประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟด
 
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.90-35.70 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.15-35.72 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน
 
ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)กล่าวย้ำว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งและไม่ได้ตัดโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 25-26 ก.ค. โดยระบุว่าการคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุดนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนการดำเนินนโยบายในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ประธานเฟดให้ความเห็นว่าในปัจจุบันนโยบายใกล้เคียงกับจุดที่เหมาะสมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาสู่เป้าหมายนั้นอาจจะใช้เวลาอีกราว 1-2 ปี ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯยังสะท้อนภาวะแข็งแกร่ง
 
ทางด้านเงินเยนแตะจุดต่ำสุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง ขณะที่นักลงทุนจับตาดูว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)จะเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อจำกัดการอ่อนค่าของเงินเยนหรือไม่ หลังจากบีโอเจเคยเข้าแทรกแซงที่ USD/JPY เหนือระดับ 145 ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,214 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 3,199 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีแรกเงินบาทอ่อนค่าลง 2.6%
 
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยรายงานประชุมเฟดเมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย. และข้อมูลจ้างงานเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯซึ่งจะกระทบต่อการประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟดต่อไป โดยในขณะนี้นักลงทุนคาดว่ามีความเป็นไปได้ 84% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนยังเลื่อนการคาดการณ์เรื่องการลดดอกเบี้ยออกไปเป็นปี 67 แม้ตัวเลขการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลชะลอตัวลงในเดือนพ.ค.
 
ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2.8 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. ขณะที่ธปท.ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.ปรับตัวดีขึ้นตามจํานวนนักท่องเที่ยว โดยในระยะถัดไปต้องติดตามเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ รวมถึงค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงและผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ เรามองว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจไหลกลับเข้ามาได้บ้างหากภาพทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น