Phones





KBANK ชี้ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง แนะรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาหนี้ข้าราชการ

2023-07-11 18:39:42 203



     
 นิวส์ คอนเน็คท์ - KBANK ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก รับแรงหนุนจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยประเมินตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 66 ขยายตัว 3.7% แนะรัฐบาลใหม่หาแนวทางแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการ 
 
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับที่ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับแรงหนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 ที่ประมาณ 28.5 ล้านคน และทำให้คาดว่าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวประมาณ 4.3% จากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวราว 3% 
 
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญหลายโจทย์สำคัญที่ท้าทายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โดยโจทย์แรก คือ การจัดตั้งรัฐบาล และการรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจอาเซียน และไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง
 
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจีดีพีของไทยในปี 2566 ที่ 3.7% และยังคงคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกไว้ที่ ติดลบ 1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาล และการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อนซึ่งเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข
 
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเด็นเรื่องภัยแล้งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่อาจคิดเป็นมูลค่าราว 4.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญในรอบนี้อาจกดดันภาคการผลิต และบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง ได้แก่ อโลหะ อาหาร สิ่งทอ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีโอกาสประสบกับสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อย หรือ น้อยจนเข้าขั้นวิกฤต 
 
นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำ อาจทำให้ธุรกิจต้องลดกำลังการผลิตหรือจำกัดการให้บริการ ส่งผลตามมาให้มีการสูญเสียรายได้ และสำหรับบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นอาหาร ยังมีต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่จะสูงขึ้นด้วย ขณะที่ประเด็นข้อกังวลเพิ่มเติม คือ ภัยแล้งข้างต้น อาจลากยาวไปถึงปี 2567 ด้วยโอกาสของความรุนแรงที่อาจมากกว่าในปี 2566
 
ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า โจทย์สำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ซึ่งคาดจะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91.0% ในช่วงปลายปีนี้ จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ดังกล่าวจะยังไม่ลดลงแตะ 80% ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่มาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม
 
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจภาวะหนี้สินครัวเรือนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจำนวน 400 ตัวอย่าง ซึ่งย้ำภาพความน่ากังวลของปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย ขณะที่ลูกหนี้ที่ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักปัจจัยด้านรายได้ในการปิดหนี้อย่างยั่งยืน ส่วนมาตรการแก้หนี้ของ ธปท. ที่จะเริ่มจากการแก้ไขหนี้เรื้อรัง (Persistent Debts) สำหรับลูกหนี้บุคคลที่มีลักษณะวงเงินหมุนเวียน (Revolving Personal Loans) ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้ลูกหนี้ผ่อนให้จบภายในเวลาราว 4 ปีนั้น คงมีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในวงจำกัด ในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ย 4,300-4,700 ล้านบาท และ กระทบประมาณ 0.02-0.03% ต่อ NIM 
 
อย่างไรก็ตาม ต้องการเห็นรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลหนี้ก้อนใหญ่ ที่แก้ยากอย่างจริงจัง คือ เกษตร ครู และข้าราชการ ซึ่งเฉพาะหนี้ครู และข้าราชการตำรวจมีสัดส่วนประมาณ 10.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด รวมถึงหนี้ที่ย้ายออกจากระบบไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อีกหลักแสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการที่เคยออกมาแล้วอย่างเต็มที่ อีกทั้ง ยังประกอบด้วยหนี้บุคคล และหนี้ธุรกิจรายย่อย โดยจะมีผลต่อความสามารถในการดำรงชีพของครัวเรือนและ ธุรกิจฐานรากของไทยในระยะข้างหน้า
 
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยไทยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการเพิ่มเป็น 2.25% ในสิ้นปี 2566 จากเดิมคาดอยู่ที่ 2% โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะลดลงมาที่ 1.8% จากเดิม 2.8% ส่วนค่าเงินบาทในปีนี้ยังคงประมาณการไว้ที่ 33.50-34 บาทต่อดอลลาร์