Phones





กกพ.จัดงบ5พันล.ลุยแผนยุทธศาสตร์ปี63-67

2019-12-02 08:57:02 484




นิวส์ คอนเน็คท์ - กกพ.อัดงบ 5 พันล้านบาท ลุยแผนยุทธศาสตร์ปี 63-67 พร้อมเตรียมเคาะโครงสร้าง LNG ปีหน้า ชี้เอกชนหลายรายสนเป็นผู้นำเข้า พร้อมชง กพช.เลื่อนจ่ายไฟฟ้าขยะอุตฯ 37 เมกะวัตต์ เลื่อนเซ็น PPA โรงไฟฟ้า SPP ไฮบริด 300 เมกะวัตต์ออกไปก่อน


เมื่อเร็วๆ นี้ นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า งบประมาณดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ กกพ. ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2563 – 2567) มีวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่ จะเป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์พัฒนาระบบการกำกับให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรในการประกอบ กิจการพลังงานอย่างประหยัดและประสิทธิภาพ วงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์หลักของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รองลงไป เป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท และกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท


สำหรับแผนยุทธศาสตร์ กกพ. พ.ศ. 2563 – 2567 เป็นการปรับปรุงจากแผนเดิม พ.ศ. 2561-2564 เพื่อให้ทันสมัยสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับกิจการพลังงานของประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เช่น การส่งเสริมให้บริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต ,การปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งด้านอัตราค่าบริการ และคุณภาพการให้บริการ ,การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน


ด้านนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการและโฆษก กกพ. กล่าวถึงการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายสนใจจะขอยื่นเป็นผู้นำเข้าและจัดหาหรือ Shipper ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากปัจจุบันที่มีเพียงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะเริ่มทดลองนำเข้าแบบตลาดสปอต จำนวน 1.3 แสนตัน ในช่วงเดือนธ.ค.นี้ และล็อตสองในเดือนเม.ย.63


ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดการแข่งขันอย่างเสรี กกพ.เตรียมปรับโครงสร้างราคาก๊าซใหม่ โดยจะต้องแก้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานในบางข้อ ปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ พร้อมกำหนดแนวทางดูแลผู้บริหารท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (TSO) เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีอิสระ และมีประสิทธิภาพ เช่น การแยก กฟผ.Shipper ออกจาก Pool ขณะที่ ปตท.แม้จะไม่มีการแยกธุรกิจท่อก๊าซออกมาจัดตั้งบริษัท แต่ก็ต้องแยกบัญชีให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ


อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติใหม่นั้น กกพ.จะต้องดูผลการนำเข้า LNG ทั้งสองล็อตของ กฟผ.ก่อน รวมถึงแผนการเป็นศูนย์กลาง LNG ในภูมิภาคอาเซียน (ฮับ LNG) ซึ่งโครงสร้างราคาก๊าซใหม่จะต้องไม่กระทบราคาค่าไฟฟ้า และความมั่นคงด้านพลังงานด้วย


นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค.นี้ กกพ.เตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาวาระสำคัญหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เสนอให้พิจารณาเรื่องผู้ที่ได้ใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 37 เมกะวัตต์ จาก 50 เมกะวัตต์ โดยในจำนวน 37 เมกะวัตต์ดังกล่าวมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.62 ซึ่งคาดว่าจะมีหลายโครงการที่ COD ไม่ทันกำหนดให้ กพช.พิจารณาเลื่อน COD ออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ล่าช้าเพราะยังไม่ได้ EHIA และ EIA จากปัจจุบัน COD ไปเพียง 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่กำลังการผลิตติดตั้ง 8.63 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จากขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิต 7.0 เมกะวัตต์ ของ บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG)


นอกจากนี้ จะเสนอให้ กพช. พิจารณาเลื่อนการเซ็นใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการ SPP ไฮบริด 300 เมกะวัตต์ ที่ต้องได้รับ PPA ภายในปี 62 และ COD ตามแผนในช่วงปี 2563-2564 เนื่องจากติดปัญหา EIA