Phones





BAYหั่นจีดีพีโต2.4% - จับตาFTAอียูเวียดนาม

2019-12-03 15:36:19 393




นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY ประเมินเศรษฐกิจไทยผงกหัวได้อีกครั้งในปี 64 หลังได้มีการลดเป้าการเติบโตตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 62 เหลือ 2.4% รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ติดลบ และการลงทุนในประเทศที่ชะลอตัว แต่คาดหวังภาคการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัว 3% ในปีหน้า แนะจับตา FTA ระหว่างอียูกับเวียดนาม อาจกระทบภาคส่งออกไทย


เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 62 เหลือเติบโต 2.4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.9% เนื่องจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่คาดว่าในปีนี้จะติดลบ 2.5% ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการชะลอตัวของการลงทุน เนื่องจากการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆปรับตัวลดลง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม


นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยยังมีแรงกดดันจากอุปต่างประเทศที่ลดลง รวมทั้งความตึงเครียดของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมไปถึงยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากประเด็น Brexit ที่ไม่มีข้อตกลง ส่วนปัจจัยในประเทศยังมีเหตุผลจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม โดยประเด็นสำคัญคือการแข็งค่าของเงินบาท


สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% ลดลงจากเดิมที่คาดจะอยู่ที่ 0.9% ส่วนในปี 63 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% จากเดิมคาดอยู่ที่ 0.6% และในปี 63 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะคงอยู่ที่ 1.25% และในปีหน้าคาดว่าจะปรับลดลงเหลือ 1%


อย่างไรก็ตาม ธนาคารประเมินว่าตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 63 จะเติบโตได้ในระดับ 2.5% โดยมีปัจจัยหนุนจากความคาดหวังว่าจะเห็นการฟื้นตัวของภาคการส่งออก เนื่องจากสัญญาณบ่งชี้ต่างๆแสดงให้เห็นว่าปัจจัยต่างประเทศเริ่มมีแนวโน้มเป็นบวก ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นคำสั่งซื้อสินค้าและการจ้างผลิตจะกลับมาเติบโต และส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทย โดยธนาคารคาดว่าภาคการส่งออกของไทยในปี 63 จะเติบโตราว 3%


“ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี 63 คือความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และประเด็นที่สหรัฐตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย และยังต้องจับตาดูข้อตกลง FTA ระหว่างอียูและเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการส่งออกของไทยแน่นอน ส่วนปัจจัยในประเทศยังมีความเสี่ยงด้านนโยบาย ปัญหาอุปทานส่วนเกินของตลาดที่อยู่อาศัย และความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง” นายสมประวิณ กล่าว


สำหรับการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยนั้น ประเมินว่ายังมีโอกาสที่จะเห็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการลดดอกเบี้ยและนโยบายที่เจาะจงมากขึ้น โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหนึ่งครั้งในช่วงไตรมาส 1/63 เหลือ 1% จากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 1.25% และมีโอกาสที่จะเห็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในรูปแบบอื่นๆเพิ่มเติม


อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีหน้าจะเห็นการใช้มาตรการทางด้านการคลังเพิ่มมากขึ้น โดยภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังออกมาเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นมาตรการที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ โดยจะเน้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และคาดหวังว่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจของไทยกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 64