Phones





เศรษฐกิจปีหนูอึมครึม-ตัวเลขว่างงานพุ่ง

2019-12-09 15:52:13 381



 



นิวส์ คอนเน็คท์ - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินจีดีพีปี 63 ขยายตัว 2.5-3% ลุ้นพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ผ่านสภาฯได้ภายในไตรมาส 1/63 หวังช่วยลดความกังวลของนักลงทุน พร้อมคาดการณ์เงินบาทปีหน้ายังแข็งค่าต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานในปี 63 เฉพาะภาคการผลิตยังสูงกว่า 30,000 ตำแหน่ง สะกิดภาครัฐเตรียมหามาตรการรับมือ


 


เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 63 มองว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้มีการเบิกใช้จ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หลังจากที่การเบิกใช้เงินงบประมาณในปี 62 ค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนผ่านคณะรัฐบาล


 


ทั้งนี้ ประเมินตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในปี 63 จะขยายตัวในกรอบ 2.5-3.0% ซึ่งคาดหวังว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 จะสามารถผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และมีการเบิกใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 1/63 ซึ่งจะช่วยลดความกังวลต่อประเด็นเสี่ยงทางการเมืองของไทย โดยหากรัฐบาลสามารถเดินหน้าการลงทุนได้มากขึ้น จะส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศที่จะเติบโตมากขึ้น


 


สำหรับภาคการส่งออกของไทยในปี 63 ยังประเมินว่าจะติดลบ 1% จากปี 62 ที่ภาคการส่งออกติดลบ 2.5% โดยแนวโน้มของภาคการส่งออกยังอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ยังมีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีสัญญาณว่าจะไม่สามารถได้ข้อสรุปภายในเร็วๆนี้ โดยตัวแปรสำคัญมาจากการที่สหรัฐฯมีการผ่านกฎหมายเกี่ยวกับอ่องกงที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน


 


นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเงินบาทในปี 62 มีการแข็งค่ากว่า 7% ซึ่งถือเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในโลก และในปี 63 ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยประเมินกรอบเงินบาทในปี 63 ไว้ที่ 29.00-30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการแข็งค่าของเงินบาทมาจากการที่บัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีการเกินดุลมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 63 ลงอีก 1-2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้สกุลเงินดอลลาร์ยังคงมีการอ่อนค่า


 


สำหรับภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 63 มองว่าจะยังคงเผชิญกับ 4 โจทย์หินคือ สินเชื่อที่มีข้อจำกัดของการเติบโตตามเศรษฐกิจ โดยมองอัตราการเติบโตของสินเชื่อเท่าปีก่อนที่ 3.5% ในส่วนของหนี้ที่ใม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากปี 62 ค่าธรรมเนียมที่คงขยายตัวในระดับไม่เกิน 1-2% และมีโอกาสได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายของทางการ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง หรือการส่งสัญญาณของทางการที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งจะกระทบรูปแบบการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก จนมีผลกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)


 


นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5 บาทนั้น จะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับภาคธุรกิจที่ต้องมีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยการขึ้นค่าแรง 5 บาท จะเพิ่มต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอีก 0.3% ขณะที่ประเมินว่าในปี 63 จะมีอัตราการว่างงานในการภาคการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 30,000 ตำแหน่ง โดยยังไม่รวมกับการว่างงานในภาคบริการและภาคการเกษตร ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมนโยบายเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มนี้