Phones





ปิ๊ง!ใช้บล็อกเชนขายไฟBCPGต้นแบบไฟฟ้าชุมชน

2019-12-18 17:03:45 1091




นิวส์ คอนเน็คท์ - รมว.พลังงานเล็งใช้โครงการนำร่องการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าของ BCPG มาใช้กับระบบโรงไฟฟ้าชุมชน ลั่นเปิดให้ยื่นข้อเสนอในเดือน ม.ค. 63 ด้าน BCPG ลุยลงทุนโซลาร์รูฟท็อประบบบล็อกเชน


เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการนำร่องใช้ระบบแลกเปลี่ยนไฟฟ้าพลังงานรูปแบบแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ภายในโครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่ร่วมกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ว่า เป็นโครงการที่ก้าวหน้าในเรื่องของสมาร์ท ซิตี้ เทรดดิ้ง แพลตฟอร์ม มีการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าในโครงการ สำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชนของ BCPG นั้นสามารถรับมาประยุกต์ใช้ได้กับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้า


ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ตั้งเป้าหมายจะรับซื้อในเฟสแรกปริมาณ 700 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ในเดือน ม.ค. 63 และภายในครึ่งปีแรกจะได้เห็นโครงการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) นำร่อง ในลักษณะ Quick win เกิดขึ้นได้ก่อน ส่วนเกณฑ์การพิจารณาเรื่องการให้ผลประโยชน์แก่ชุมชนสูงสุด โดยมีสัดส่วน 60% ส่วนที่เหลือเป็นเป็นการพิจารณาในด้านอื่น ๆ ทั้งในส่วนของเชื้อเพลิง , ราคา เป็นต้น

สำหรับการให้เอกชนสามารถมีการแลกเปลี่ยนในรูปแบบของการซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการนั้น ยังติดขัดข้อกฎหมายของการไฟฟ้า เช่น ปัจจุบันตามกฎหมายบุคคลธรรมดาไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ นอกจาก 3 การไฟฟ้า และการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันจะต้องส่งผ่านสายส่งของการไฟฟ้า , อัตราภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง , การมีศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ดังนั้นต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลา เพราะการแก้ไขกฎหมายเท่ากับว่าต้องรื้อโครงสร้างระบบซื้อขายไฟฟ้าใหม่


ด้านนายอภิชัย ฤทธิบุตร ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้อำนวยการระบบพลังงานดิจิทัล บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า ปัจจุบัน BCPG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BCP ได้ดำเนินการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปและติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนไฟฟ้าพลังงานรูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) จำนวน 4 โครงการ โดยโครงการแรกที่ได้ดำเนินการ COD แล้ว คือ โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 ของ SIRI ขนาดกำลังการผลิต 635 กิโลวัตต์ และในอนาคตจะเพิ่มขนาดกำลังการผลิตเป็น 1 เมกะวัตต์


นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขนาดกำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มทยอย COD ได้กลางปี 63 และจะ COD ครบทั้งระบบในช่วงปลายปี ซึ่งโครงการนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีมาเก็บพลังงานด้วยเพื่อกักเก็บไฟฟ้าเหลือใช้ พร้อมกันนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการภายในนิคมอุตสาหกรรม RIL และ 3.โครงการของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC อีกด้วย