Phones





SCB เล็งขึ้นแท่นผู้นำ WEALTH ดัน AUM โตกว่าตลาด

2023-11-29 21:13:27 338



 
นิวส คอนเน็คท์ - SCB ปักหมุดขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจ WEALTH ตั้งเป้า AUM ปี 67 เติบโตมากกว่าตลาด ขณะที่มองการลงทุนปีหน้าเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ Investment Grade พร้อมประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยจะกลับมาฟื้นตัว โดยมองเป้าดัชนีที่ระดับ 1,750 จุด
 
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ WEALTH ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ภาพรวมของปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่มีความท้าทายท่ามกลางภาวะการลงทุนในตลาดโลกที่มีความผันผวนตลอดปี ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะลุกลาม หรือยึดเยื้อนานเท่าใด
 
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง SCB WEATH ยังคงมุ่งมั่นปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อตอบโจทย์การลงทุนให้แก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้า Wealth และ ลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะเป็น Wealth อยู่มากกว่า 1 ล้านคน ด้วยความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำตลาดได้มีการคัดสรรและ นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลาที่มีทั้งโอกาส และ ความ ท้าทาย เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนในสกุลเงินดอลล่าร์ในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำระยะสั้น หรือ กองทุนกลุ่มตราสารตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ Capped Floored Floater Note หรือ Callable Note เป็นต้น
 
สำหรับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนและ สามารถรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไม่ผันผวนจนเกินไป และ ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในภาวะดอกเบี้ยสูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทำให้สินทรัพย์การลงทุนภายใต้การบริหารจัดการ(AUM) ของกลุ่มลูกค้า SCB WEALTH เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 7% หรือ มาอยู่ที่ 650,000 ล้านบาท โดยสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 4% ซึ่งจากช่วงเดียวก่อนปีก่อน อยู่ที่ 607,000 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกัน และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่ง คั่ง (Wealth Lending ประเภท Property Backed Loan และ Lombard Loan) ที่มียอดสินเชื่อเติบโตขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน Regular Unit-inked ยังครองอันดับ 1 ในตลาดประกันผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในปีนี้ และ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพนำมา ซึ่งผลการดำเนินงานที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า รายได้จากกลุ่มธุรกิจ Wealth ในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
 
ขณะที่ SCB Wealth มีเป้าหมายที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า และ ธนาคารวางเป้าหมายในการเป็น "ดิจิทัลแบงก์อันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง" จะเป็น Thought pariners ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และ จะอยู่กับลูกค้าทุกช่วงจังหวะการลงทุนอย่างใกล้ชิด
 
นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าใน 3 ปีข้างหน้าไว้ดังนี้ คือ 1. เป็นอันดับหนึ่งในใจลูกค้าด้วยการส่งมอบประสบการณ์การบริหารความมั่งคั่งภายใต้กลยุทธ์ Digital Wealth with Human Touch 2. ผู้นำอันดับหนึ่งสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการในเชิงของผู้ให้คำปรึกษา (Advisory) เพื่อนำมา ซึ่งการได้รับความไว้วางใจ และ เพื่อเป็น Main Wealth Bank ของ ลูกค้า และ 3. ผู้นำในการบริหารภาพรวมพอร์ตโฟลิโอเพื่อก้าวข้ามทุกความท้าทาย และ สร้างผลลัพธ์ด้านผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว
 
ด้านนายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีแห่งความผันผวน โดยเริ่มต้นปีด้วยความกังวลเศรษฐกิจถดถอยมาสู่ปลายปีด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวแบบจัดการได้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและ ค้างนาน (Higher for longer) กำลังนำไปสู่ความคาดหวังว่า ธนาคารกลางหลักจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Rate pause expectation) ส่วนประเด็นสงคราม ก็ยังมีทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ในส่วนของการไหลออกของเงินทุนจากตลาดไทยไปต่างประเทศยังคงมีอยู่ และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งส่งผลให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ชัดเจน และ ล่าช้าออกไป
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่เศรษฐกิจปี 2567 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ (Uneven slowdown) ทำให้นักลงทุนคาดหวังเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ภาวะ Stagfation หรือ เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง , ธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมากอาจมีความเสี่ยงที่ต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก , ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในประเทศหลัก ๆ ที่จะทำให้ตลาดการลงทุนมีความผันผวน และ สภาพคล่องทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากการใช้นโยบายดูดเงินในระบบกลับออกมา (Quantitative Tightening : QT)
 
ทั้งนี้ แนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน แบ่งเงินลงทุนในต่างประเทศที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย ซึ่งควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น การทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และ หุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade) หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield)
 
ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นควรทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีงบดุลที่แข็งแกร่ง มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ สามารถรองรับธุรกิจชะลอตัว และ รักษาอัตรากำไรได้ดี เช่น 7 บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นอื่นที่แนะนำ ได้แก่ ตลาดหุ้น ญี่ปุ่น และ อินเดีย ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม
 
สำหรับพอร์ตลงทุนที่แนะนำเพื่อคาดหวังผลตอบแทน 7-10% กรณีเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealth) รับความเสี่ยงได้สูง และ เข้าใจผลิตภัณฑ์ที่มีความชับซ้อน คือ แบ่งเงิน 15% ไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือ เลือกรับผลตอบแทนระหว่างรอแลกอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการด้วยผลิตภัณฑ์ Dual Currency Note Pricing (DCI) ที่ให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าต้องการเลือกลงทุนตราสารหนี้ 15% เน้นตราสารหนี้ระยะยาว ลงทุนในหุ้น 30% ทั้งในไทย และต่างประเทศที่เป็นกลุ่มคุณภาพเติบโตสูง
 
นอกจากนี้ ควรมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสร้างผลบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) ในพอร์ตด้วย พร้อมกันนี้ควรลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ Capped Floored Floater Noted ที่จำกัดผลตอบแทนต่ำสุดแลกกับการจำกัดผลตอบแทนสูงสุด 10% หุ้นกู้อนุพันธ์อื่น ๆ 10% สินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Asset) 10% และ สินค้าโภคภัณฑ์อีก 10% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ
 
ขณะที่นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (INVX) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2567 ยังคงมีความผันผวน แต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปี 2566 เนื่องจากระดับ SET Index ในปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (undervalue) โดยคาดว่า ตลาดยังมีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีแรก และ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังโดยประเมินเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 1,750 จุด
 
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในปี 2567 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. กลุ่มที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มขนส่ง 2. กลุ่มที่ราคาลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และ REIT/IFF 3. หุ้นที่ได้ ESG Score สูงระดับ AAA จาก SET แต่ราคาลดลงมามาก