นิวส์ คอนเน็คท์ – ธปท.เตรียมจับแบงก์พาณิชย์ลงนาม MOU เดินหน้านโยบาย “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” หวังช่วยคุมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้ พร้อมเข้าติดตามกระบวนการภายในของแบงก์พาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อลูกค้ากลุ่มเสี่ยง
นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ธปท.จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) กับสมาชิกของทางสมาคมธนาคารไทย เกี่ยวกับนโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ(Responsible Lending) ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน หลังจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเร่งตัวขึ้นมาก รวมทั้งคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มีจำนวนมากขึ้น และระยะเวลาเป็นหนี้นานขึ้น
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนต่อตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 61 อยู่ที่ระดับ 78.7% เพิ่มขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับปี 52 ที่อยู่ในระดับ 53.5% 7% ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ที่อยู่หนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 97.7% ซึ่งคนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาทต่อราย และ คนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาทต่อราย
นอกจากนี้ ธปท. จะมีการติดตามภาระหนี้ต่อรายได้(DSR) โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องการให้สถาบันการเงินติดตามลูกค้าที่มีกลุ่มเสี่ยงรวดเร็ว และใกล้ชิดมากกว่ากลุ่มปกติ โดยธปท.จะเข้าไปติดตามกระบวนการภายในของสถาบันการเงินว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพหนี้ของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่จะดีขึ้น และ NPL จะลดลง
อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อกฎหมายบังคับ แต่มองว่าสถาบันการเงินควรที่จะปฏิบัติตาม เพราะอาจถูกภาคสังคมเข้ามาร่วมกดดัน เนื่องจากหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ คือ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การทำธุรกิจต้องมองกว้างกว่ากำไรของบริษัท และ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมมาภิบาล