Phones





ไทยเครดิต สานต่อ “โครงการ ตังค์โต Know-How” ปีที่ 8

2024-03-11 16:54:53 37



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – ไทยเครดิต เดินหน้าสานต่อภารกิจเพื่อสังคมในการให้ความรู้และเสริมทักษะทางการเงินแก่ประชาชน จัดงาน “ตังค์โต Know-how” เสริมแกร่งการเงินทั่วไทย สร้างวินัยการออม กิจกรรมการอบรมภายใต้โครงการฯ ในปีที่ 8 พร้อมเปิดตัว “กระปุกออมเงินตังค์โต” ส่งเสริมการออมเงินให้งอกเงย
 
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการตังค์โต Know-How” จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของธนาคารในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น โดยเน้นในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ภายใต้แนวความคิด EMpower ธนาคารจะเดินหน้าโครงการฯ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเสริมแกร่งด้านการเงินแก่คนทุกกลุ่มในสังคมซึ่งนำพาไปสู่การพัฒนาธุรกิจและสังคมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคารฯ “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ
 
“ธนาคารไทยเครดิตเน้นการทำงาน 2 ประการหลักเพื่อสามารถพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน คือการทำธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรอย่างโปร่งใส ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล และการพัฒนาสังคมและชุมชนให้เข้มแข็งควบคู่กันไปผ่าน โครงการตังค์โต Know-how และกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังปลูกจิตสำนึกจิตอาสาแก่พนักงานธนาคาร เพื่อช่วยเหลือ ทำความดีเพื่อสังคม การจัดโครงการฯ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เป็นเครื่องยืนยันในการสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าและความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและชุมชนไปในทางที่ดีขึ้นได้เป็นอย่างดี” นายวิญญู กล่าว
 
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจสู่ความสำเร็จในปีที่ 8 ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิไทยเครดิต ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน ตลอดจนผู้นำกลุ่มและองค์กรเครือข่ายภายใต้ความดูแลรับผิดชอบให้มีความรู้และทักษะด้านการเงิน การวางแผนและการบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งออกแบบและพัฒนาหลักสูตรด้านการเงินและบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสมกับผู้เข้าอบรม ซึ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับธนาคารไทยเครดิตฯ ที่ได้รับความไว้วางใจให้ร่วมงานกับองค์กรจากภาครัฐบาล
 
ด้านนายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การออมเงินเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต และเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตทางการเงินได้ อีกทั้งยังช่วยปลดหนี้ ทำให้มีสุขภาพและวินัยทางการเงินที่ดี ปีนี้ธนาคารฯ จึงจัดทำ “กระปุกออมเงินตังค์โต” เพื่อส่งเสริมการออมเงินให้งอกเงย
 
“คอนเซ็ปต์ของโครงการในปีนี้คือ การส่งเสริมการออมเงินซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าเราจะมีรายได้เท่าไหร่ก็ควรออมเงินตามสัดส่วนที่เหมาะสม การหยอดเงินใส่กระปุกเป็นหนึ่งในวิธีออมที่ง่ายที่สุด สามารถเริ่มทำได้ทันทีโดยเริ่มจากจำนวนเงินเท่าไหร่ก็ได้ หากเราพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก็จะเหลือเงินเพื่อเก็บออม การหมั่นออมเงินเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจะทำให้บรรลุเป้าหมายการออมได้ไม่ยากและสามารถนำเงินไปชำระหนี้ที่มีอยู่ได้” นายรอยย์ กล่าว
 
ขณะที่นายกมลภู ภูริดิฐสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มงาน กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครไฟแนนซ์และสาขาสินเชื่อ กล่าวว่า โครงการตังค์โต Know-how เติบโตอย่างต่อเนื่องใน 7 ปีที่ผ่านมาโดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ มีผู้เข้าอบรมเพียงไม่กี่คนก้าวกระโดดสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ จากการสำรวจพบว่า 89% ของลูกค้าธนาคารที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเสริมทักษะทางการเงินมีพฤติกรรมทางเงินที่ดีขึ้น และส่วนใหญ่มีผลประกอบการด้านธุรกิจเติบโต 10% ในด้านความภักดีของลูกค้า ธนาคารไทยเครดิตได้รับคะแนนความพึงพอใจ 81 คะแนน นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 “ผู้นำอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน” (The 6th ASEAN Rural Development and Poverty Eradication Leadership Awards) ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน จากกระทรวงมหาดไทย
 
“โครงการตังค์โต Know-how ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจำนวนผู้เข้าอบรม โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเกือบ 180,000 คน ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ในปี 2566 มีผู้เข้าอบรมกว่า 58,000 คน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ ระบบออนไลน์และการจัดอบรมนอกสถานที่ ในปีนี้ ธนาคารคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมอบรม 60,000 คน อย่างไรก็ตาม ปีนี้ก้าวสู่ปี 8 เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการให้เติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านคุณภาพของหลักสูตรเพื่อให้ตรงกับตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งทักษะและความสามารถของวิทยากรจากธนาคารฯ เพื่อช่วยให้ผู้เข้าอบรมสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและสนุกสนานกับการเรียนยิ่งขึ้น” นายกมลภูกล่าว