Phones





กฟผ.คิกออฟโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร45MW

2020-01-21 11:10:14 1636




นิวส์ คอนเน็คท์ - กฟผ. ร่วมกับ BGRIM– เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ลงนามสัญญาจัดซื้อและก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร แบบไฮบริด มูลค่ากว่า 842 ล้านบาท พร้อมลุยลงทุนอีก 8 เขื่อน


เมื่อวันนี้ 20 มกราคม 2563 นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังในพิธีลงนามสัญญาโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ระหว่าง กฟผ. กับกิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ "BGRIM"– เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำที่จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิม


โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน(Energy Management System หรือ EMS) มาบริหารจัดการพลังงานทั้งสองประเภท ทำให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้า โดยในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับโครงการเพื่อสร้างเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าและความมั่นคงทางพลังงานประเทศไทย


สำหรับโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท จะใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูงและมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่ โดยใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาถูกภายหลังจากการลงนามในสัญญาแล้วคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 เดือน และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือน ธ.ค. 63


พร้อมกันนี้ จะเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำ (Hydro-Floating Solar) ในพื้นทึ่เขื่อนที่เหลืออีก 8 เขื่อนของ กฟผ.ขนาดกำลังการผลิตรวม 2,680 เมกะวัตต์ตามแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) และเขื่อนที่จะต้องดำเนินการต่อจากเขื่อนสิรินธน คือ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ซึ่งภายหลังจากดำเนินการติดตั้งในเขื่อนสิรินธนแล้วเสร็จก็ต้องศึกษารายละเอียดโครงการก่อนว่ามีข้อดี หรือข้อเสียอย่างไรเพื่อนำไปปรับปรุงด้านเทคโนโลยีให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมกัยจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการประมูล (TOR) โดยในเบื้องต้นคาดว่า TOR จะแล้วเสร็จในปี64 พร้อมดำเนินการประมูลภายในปี 64-65 และกำหนด COD ในปี 66


นอกจากนี้ จะดำเนินลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงตามแผน PDP จำนวน 8 โรง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด 1 โรง ที่เหลือ 7 โรงเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงานความร้อนร่วมมูลค่าการลงทุนทั้งหมดคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระดับหลัก 100,000 กว่าล้านบาท คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนรตี (ครม.) อนุมัติเห็นชอบได้ภายในปี63



ด้านนายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธาน บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า การลงนามสัญญาจัดซื้อและจ้างในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวของบริษัทที่จะโชว์ศักยภาพในการดำเนินการด้านพลังงานในทุกมิติ การที่ BGRIM ได้รับโอกาสในการพัฒนาและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำให้กับ กฟผ. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนของประเทศไทย ทั้งยังเป็นเป็นการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานในการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัท BGRIM พร้อมทั้งยังเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐ และเป็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทได้รับโอกาสในการพัฒนาและดำเนินการโครงการโซลาร์ทุ่นลอยน้ำในโครงการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ด้วยความพร้อมและศักยภาพของบริษัทภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีศักยภาพและความได้เปรียบสูงในการบริหารจัดการต้นทุน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และการพัฒนาเทคนิควิศวกรรมที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการพัฒนาและก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews