Phones





CIMBT ปักเป้าสินเชื่อรวมโต 5% เล็งรุกหนักตลาดรายย่อย – อาเซียน

2024-03-17 19:46:46 381



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – CIMBT เปิดเป้าหมายธุรกิจปี 67 วางเป้าสินเชื่อโต 5% เดินหน้ารุกตลาดสินเชื่อรายย่อย ในกลุ่มจำนำทะเบียน หลังมีการเปิด “One Auto Platform” ช่วงต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ด้านสินเชื่อรายใหญ่หวังอาศัยความแข็งแกร่งของ CIMB Group เดินหน้ารุกตลาดอาเซียน
 
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 5% จากปี 2566 ที่มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 244,990 ล้านบาท โดยในปีนี้มองว่าสินเชื่อรายย่อยจะเป็นตัวหลักในการผลักดันการเติบโตของสินเชื่อรวม ซึ่งคาดว่าสินเชื่อรายย่อยจะเติบโตราว 5-10% โดยมาจากการขยายสินเชื่อรถยนต์ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของสินเชื่อรายย่อยรวมที่อยู่ 165,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 67 ธนาคารได้เปิดตัว “One Auto Platform” บริการสินเชื่อยานยนต์ ครอบคลุมทั้งรถยนต์ และ จักรยานยนต์ ผ่านบริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร โดยจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับตลาด และเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจผ่านบริการใหม่ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งแบบโอนเล่ม และ ไม่ต้องโอนเล่ม
 
สำหรับสินเชื่อรายใหญ่ในปีนี้จะยังเติบโตได้โดยอาศัยเครือข่ายความแข็งแกร่งในฐานะกลุ่มการเงินชั้นนำระดับภูมิภาคของ CIMB Group เข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการโฟกัสตลาดในอาเซียน (ASEAN) เป็นหลัก ซึ่งในปี 2567 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในอาเซียนเติบโต 10% เพื่อให้บริการลูกค้าที่ต้องการให้ธนาคารสนับสนุนการขยายธุรกิจในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ กัมพูชา คู่ขนานไปกับการดูแลธุรกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้าองค์กร และ สถาบันการเงินในประเทศผ่านสินเชื่อบริการธุรกรรมจัดการเงิน บัญชีธุรกิจ และ บริการชำระเงิน
 
ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ธนาคารจะทยอยลดสัดส่วนอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนอยู่ที่ 2.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมด และคาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะลดลงต่ำกว่า 1% เนื่องจากธนาคารจะเน้นขยายลูกค้าธุรกิจในอาเซียน และ ลูกค้ารายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน และยกระดับการให้บริการในโลกยุคใหม่ ผ่านแอพลิเคชั่น CIMB THAI Digital Banking ที่ส่งผลให้ธุรกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขยายฐานบัญชีดิจิตอลเพิ่มเป็น 400,000 ราย ปริมาณธุรกรรมบนแอพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นสู่ 90% ขณะที่ธุรกรรมจองซื้อหุ้นกู้, พันธบัตรทั้งตลาดแรก และตลาดรองเพิ่มขึ้นเกินกว่า 66,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ ธนาคารยังตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำตลาด และ ที่หนึ่งในใจลูกค้า Wealth Management ท่ามกลางสภาวะตลาดที่มีความท้าทาย ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการแนะนำลูกค้าเลือกลงทุนให้ถูกจังหวะผ่านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ CIMB Thai คัดสรรมาให้ลูกค้า ทั้งหุ้นกู้ในตลาดแรก หุ้นกู้ตลาดรอง หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เงินฝากดอกเบี้ยสูง เงินฝากสกุลต่างประเทศ (FCD) กองทุน ประกัน บริการ Wealth Credit Line (วงเงินพิเศษเพื่อมอบสภาพคล่องให้ลูกค้าที่มีเงินลงทุนกับธนาคาร) และ พร้อมจูงมือลูกค้าไปลงทุน Offshore fund โดยเฉพาะ Alternative Investment มีความน่าสนใจที่ไม่อ้างอิงต่อปัจจัยหลักอย่างทิศทางดอกเบี้ย หรือ ค่าเงิน แต่อยู่บนสินทรัพย์ที่ไปลงทุน โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจและฐานสมาชิก CIMB Preferred ให้เติบโตอีก 12% จากปัจจุบันมีลูกค้า 100,000 ราย
 
ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าควบคุมให้อยู่ในกรอบ 3.3-3.5% จากปี 2566 ที่อยู่ 3.3% และมีการตั้งสำรองทั้งปี 2566 ที่ 3,110 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าการตั้งสำรองจะใกล้เคียงจากปี 2566 เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารมีการตั้งสำรองในระดับสูงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารยืนยันว่ายังไม่มีแผนตัดขาย NPL ออกไป เนื่องจากธนาคารยังสามารถบริหารจัดการได้เอง ซึ่งการขาย NPL ออกไปเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2564
 
ทั้งนี้ การทำธุรกิจของธนาคารจะขับเคลื่อนบนแกน Sustainability สอดรับกับเป้าหมายกลุ่ม CIMB ที่จะบรรลุ Green, Social Sustainable Impacted Products and Services (GSSIPS) จำนวน 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาท ในปี 2567 โดยปี 2566 กลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ได้สนับสนุนสินเชื่อความยั่งยืน จำนวน 15,000 ล้านบาท และ ในการทำงานบนวิถีความยั่งยืน ซึ่งตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 36% พร้อมปลุกกระแสสังคมรวมพลังสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน