Phones





KBANK หนุนลูกค้าเปลี่ยนธุรกิจสู่โลกสีเขียว ดันยอดสินเชื่อ 2 แสนล.

2024-03-19 19:45:42 9124



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - KBANK เดินหน้ายุทธศาสตร์ Climate หนุนภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่โลกธุรกินรูปแบบใหม่ สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เตรียมวงเงินสิเชื่อและการลงทุนด้านความยั่งยืน ไว้ที่ 1 แสนล้านบาทภายในปี 67 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาทในปี 73 โดยปัจจุบันมียอดสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท
 
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2567 ด้วยเป้าหมายสำคัญที่จะพาธุรกิจไทยและ เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และ คว้าโอกาสไว้ได้ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยธนาคารดำเนินการผ่านกลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 Green Operation – ธนาคารปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานของตัวเอง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1-2) เป็น Net Zero ด้วยมาตรฐานสากล
 
โดยธนาคารเริ่มมีการพัฒนาระบบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จึงได้สั่งสมประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำจริง โดยมีผลการทำงานถึงปัจจุบัน ได้แก่ ธนาคารมีการติดตั้ง Solar Rooftop ที่อาคารหลักของธนาคาร 7 แห่ง ครบ 100% และ ติดตั้งที่สาขาด้วยแล้ว ซึ่งจะมีจำนวน 78 สาขา ภายในเดือน มิ.ย. 2567 นี้ มีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในธุรกิจธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 183 คัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้น ธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ลดได้ 12.74% เมื่อเทียบปี 2563 มีการจัดการด้านคาร์บอนเครดิต โดยเป็นกลางทางคาร์บอนมาแล้ว 6 ปีต่อเนื่อง (2561-2566) และ ตั้งเป้าหมายเป็น Net Zero ใน Scope 1 & 2 ภายในปี 2573
 
กลยุทธ์ที่ 2 Green Finance – ธนาคารนำความแข็งแกร่งด้านสินเชื่อและเงินลงทุน สนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจร ได้แก่ 1.การให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) และการให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) 2.การจัดสรรเงินลงทุนของธนาคารในธุรกิจและสตาร์ตอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก 3. การนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทั้งของธนาคารและพันธมิตรระดับโลกเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนไปสนับสนุนธุรกิจที่คำถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) โดยธนาคารส่งมอบสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท (2565-2566) ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมียอดรวมเป็น 100,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573
 
โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้น ภายใต้กลยุทธ์นี้มีจุดชี้วัดหลัก (KPI) ประการหนึ่ง คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio Emission) ของอุตสาหกรรมหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญในการควบคุมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้วางแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) ไปแล้ว 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้นน้ำ กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอลูมิเนียม โดยพบว่ามีความคืบหน้าที่วัดผลได้ อาทิ พอร์ตโฟลิโออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ซึ่งธนาคารสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว จำนวน 3,800 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารมีระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Intensity per GWh) ในพอร์ตนี้ลดลง 5% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่วางไว้
 
สำหรับกลยุทธ์ที่ 3 Climate Solutions – โซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรโดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตร ประกอบด้วย โซลูชันการส่งมอบความรู้และคำแนะนำ (Knowledge Provider) ที่บูรณาการองค์ความรู้จากสถาบันชั้นนำ การพัฒนาโซลูชันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับลูกค้าทั้งบุคคลและ ผู้ประกอบการ (Reduction Solution) โดยทดลองออกบริการนำร่องแล้ว ได้แก่ WATT’S UP เป็นแพลต์ฟอร์มรองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมถึงบริการสลับแบตเตอรี่ผ่านจุดบริการ ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน 367 ราย
 
โดยในปี 2567 คาดว่าจะมีรุ่นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการมากกว่า 10 รุ่น ขยายตู้สลับแบตเตอรี่เป็นกว่า 70 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ“ปันไฟ" (Punfai) เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและ ภาคธุรกิจ
 
ในส่วนของกลยุทธ์ที่ 4 Carbon Ecosystem - ธนาคารเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อใน Carbon Ecosystem เพื่อการพัฒนาบริการไปอีกขั้นในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต โดยศึกษาและทดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตสำหรับการชดเชยทางคาร์บอนของธนาคารและบริษัทในกลุ่มฯ เพื่อสนับสนุนคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ และ มีความมุ่งหวังที่จะเป็นตัวอย่างและร่วมผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยเติบโต และ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
 
นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และ Innopower เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขึ้นทะเบียนและขายใบรับรอง REC ได้ รวมถึงธนาคารได้ศึกษาและเตรียมแนวทางในมิติอื่น ๆ ของระบบนิเวศด้านคาร์บอนเครดิต เช่น การเป็นตัวแทนซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Broker / Dealer) การออกโทเคนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Tokenization)