Phones





ผุดโรงงานกำจัดซากแผงโซลาร์-แบตเตอรี่

2020-01-23 18:58:34 379




นิวส์ คอนเน็คท์ - กฟผ.ลงนาม กรอ. ร่วมศึกษาแนวทางการตั้งโรงงานกำจัดซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่เป็นต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทย รองรับอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน คาดใช้เวลา 2 ปีได้ข้อสรุป


เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างเป็นระบบและครบวงจร กฟผ.จึงได้ร่วมมือกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลังสิ้นสภาพการใช้งาน เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารการใช้ทรัพยากรภายในประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

พร้อมกันนี้ ยังเป็นการศึกษาเพื่อความเหมาะสมในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่เพื่อเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศ โดยการตั้งโรงงานนั้นต้องศึกษาดูความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งที่มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จำนวนมาก การขนส่ง ข้อกฎหมาย รวมถึงศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนตั้งโรงงานเมื่อเทียบกับส่งไปกำจัดในต่างประเทศ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 2 ปีถึงจะได้ข้อสรุปพื้นที่ตั้งโรงงาน ขนาดโรงงาน รวมถึงมูลค่าการลงทุน


ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การศึกษาแนวทางการตั้งโรงงานกำจัดซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอิทย์ให้ได้ 6,000 เมกะวัตต์ ตามแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) ตั้งแต่ปี 2561-80 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิยต์ที่จำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.มีอยู่ราว 2,882 เมกะวัตต์


ขณะที่อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คาดว่าในปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาเซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600 ส่วนการกำจัดซากแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีประเทศไทยมีซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1,300 ตันที่ส่งไปกำจัดที่ประเทศเบลเยียม ญี่ปุ่น และสิงคโปร์


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews