Phones





โครงการต้นแบบ การจัดการขยะอย่างยั่งยืน

2020-01-30 18:46:16 946




พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นางสาวเชาวนี พันธ์พฤกษ์ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค (Alliance for Plastic Circularity Thailand : APCT ประกอบด้วย กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เป็ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกรมเบิล เทรดดิ้ง ประเทศไทย จำกัด (P&G) ร่วมกันเปิดโครงการต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน (Collaboration Waste Collecting Model)



โดยมีการกำหนดนโยบาย และแนวทางให้ความสำคัญในการคัดแยกและการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ไม่มีมูลค่า Flexible Packaging และ HDPE Bottle แบบครบวงจรทั่วประเทศไทย และ GC มียุทธศาสตร์เป็นต้นแบบทางออกการจัดการขยะแบบครบวงจร (Circular Living, the Solutions for All) ร่วมกับ บริษัท ฟาร์มดี จำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการและมีต้นแบบในพื้นที่เชียงรายอยู่แล้ว ผนวกรวมกับจังหวัดเชียงรายที่มีปัญหา ด้านขยะและมองหา solution ในการจัดการอยู่แล้ว และท่าน ว. วชิรเมธี มีมูลนิธิพุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำโครงการเรื่องขยะเช่นกัน จึงมีความสนใจและร่วมมือกันในการทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อประโยชน์ต่อจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติ


นางสาวเชาวนี พันธ์พฤกษ์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ผสานนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


ที่ผ่านมา GC ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ในการบริหารกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน และ สนับสนุนให้ทุกคนนำแนวคิด GC Circular Living ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้ง GC ยังมุ่งมั่นที่จะสอดประสานและเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่ต้นทางไปยังลูกค้าปลายทาง Brand Owner ภาคสังคม และ ภาครัฐครบวงจร เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการจัดการปัญหาขยะ รวมถึงขยะพลาสติก


ในการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะพลาสติกนั้น GC มองว่าเราต้องใช้พลาสติกอย่างเข้าใจและมีทางออกให้กับทุกคน คือ กลุ่มแรก สำหรับผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเหมือนเดิม เราก็เสนอผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ซึ่งหากทิ้งแล้วฝังกลบให้ถูกวิธี ก็สามารถย่อยสลายได้ กลุ่มที่สอง คือ ผู้บริโภคที่ยังต้องการใช้พลาสติกแบบเดิม GC ก็ให้ความรู้ในการคัดแยกให้ถูกวิธีเพื่อที่จะสามารถนำไปรีไซเคิล หรือ อัพไซเคิลได้ กลุ่มที่สาม คือ สังคมและชุมชน ในกลุ่มนี้ GC สร้างความรู้และความเข้าใจเพื่อสร้างแนวร่วมในการขยายผลอย่างต่อเนื่อง และ กลุ่มสุดท้าย คือ ลูกค้า ที่เราเข้าไปช่วยทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับลูกค้าในการค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตของเขาด้วย


นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ตัวแทนกลุ่ม APCT กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีเพียง 5 แสนตันเท่านั้นที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิล ที่เหลือบางส่วนถูกกำจัดโดยการนำไปฝังกลบซึ่งจะคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงหลุดรอดไปสู่แม่น้ำ ลำธาร และทะเล เป็เหตุให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและทะเล ซึ่งเราไม่สามารถนิ่งเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ได้



จุดประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ ทุกพันธมิตรจะร่วมกันสร้างแบบจำลองการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยการเก็บรวบรวม คัดแยก การขนย้ายการขนส่ง การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการรณรงค์ทางการตลาดร่วมกันในระยะยาวภายในจังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างยั่งยืน สร้างการตระหนักรู้ว่าขยะเป็นทรัพยากรที่มีค่า สร้างการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องนี้ผ่านโครงการให้การศึกษา ส่งเสริมการคัดแยกที่ถูกต้อง รวมถึงการลดของเสียให้ถูกต้องอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญในการคัดแยกและการจัดการขยะ ที่ไม่สามารถนำกลับรีไซเคิลใหม่ได้


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews