Phones





HENG เตรียมขายหุ้นกู้ 2 ชุด วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

2024-05-14 15:13:16 85



นิวส์ คอนเน็คท์ - เฮงลิสซิ่งฯ ไตรมาส 1/67 รายได้รวม 769 ล้านบาท กำไรสุทธิ 23 ล้านบาท ผลงานชะลอตัวจากปัจจัยเศรษฐกิจ ฉุดความสามารถชำระหนี้ของลูกค้า และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 2 ชุด วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท หวังสร้างการเติบโตในระยะยาว
 
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นายวิชัย ศุภสาธิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของประเทศไทยภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 (มกราคม-มีนาคม) บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตไม่เต็มศักยภาพ จากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่กระทบค่าครองชีพของประชาชน ทำให้บริษัทฯ มุ่งเพิ่มความเข้มงวดการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพื่อบริหารพอร์ตให้มีคุณภาพ และมุ่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเปราะบางที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎเกณฑ์ของ ธปท. เป็นผลให้พอร์ตสินเชื่อรวมในไตรมาสนี้อยู่ในระดับที่ทรงตัว จึงทำให้มีรายได้รวม 769 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 23 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตั้งสำรองลูกหนี้สินเชื่อส่วนเพิ่ม (Management Overlay) สูงขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม หนี้สงสัยจะสูญ (NPLs) ได้เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4% ของพอร์ตสินเชื่อรวม จากเดิมที่อยู่ระดับ 3.7% โดยบริษัทฯ ประเมินว่า ยังอยู่ในภาวะที่บริหารจัดการให้ปรับตัวลดลงได้ โดยมุ่งโฟกัสลูกค้าที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ เช่น กลุ่มลูกค้าเกษตรกรที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี รวมถึงมีทีมติดตามเร่งรัดจัดเก็บหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกค้า ช่วยปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกค้าในกลุ่มเปราะบาง ควบคู่ไปการบริหารจัดการความเสี่ยงของราคารถมือสองในตลาดที่ปรับตัวลดลง หลังเพิ่มลานประมูลรถยนต์ ทำให้สามารถระบายรถยึดได้รวดเร็วในราคาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดรถมือสองมากยิ่งขึ้น
 
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ เตรียมพร้อมด้านฐานทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้ HENG ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด วงเงินรวมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการสินเชื่อของประชาชน พร้อมบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อโดยรวมให้มีคุณภาพมากกว่าการเร่งขยายพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน