Phones





กรุงศรี ประเมินกรอบเงินบาท 36.40-37.10 บ. จับตาข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ

2024-07-01 18:16:08 143



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – โกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 36.40-37.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ลุ้นข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทยซึ่งคาดว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากที่เพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค.
 
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.40-37.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในช่วง 36.56-36.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 ขณะที่เงินเยนร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบเกือบ 38 ปี และยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าทางการญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนรอบใหม่ หลังจากทางการญี่ปุ่นเคยใช้เงินกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในพยุงค่าเงินเยนเมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย.และต้นเดือนพ.ค.
 
ทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯและความเห็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เป็นไปอย่างผสมผสาน ทั้งนี้ จีดีพีไตรมาสแรกของสหรัฐฯขยายตัว 1.4% โดยปรับขึ้นจาก 1.3% ในการรายงานครั้งก่อน แต่ชะลอตัวลงจาก 3.4% ในไตรมาส 4/66 ส่วนดัชนีเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานเดือนพ.ค.ชะลอลงตามที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 8,770 ล้านบาท และ 6,741 ล้านบาท ตามลำดับ อนึ่ง ในช่วงครึ่งปีแรกและไตรมาสที่ 2/2567 เงินบาทอ่อนค่าลง 7.1% และ 1.0% ตามลำดับ
 
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับความเห็นประธานเฟดในงาน ECB Forum ดัชนี ISM ภาคการผลิตและการบริการ รายงานประชุมเฟด รวมถึงตัวเลขการจ้างงานเดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับการเมืองยุโรปต่อไป โดยอังกฤษจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 4 ก.ค. ขณะที่ในฝรั่งเศสพรรคฝั่งชาตินิยมขวาจัดชนะเลือกตั้งรอบแรก
 
ในส่วนของปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทยซึ่งคาดว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากที่เพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค. ขณะที่ธปท.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะลงมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในไตรมาส 3/2567 ก่อนที่จะกลับเข้ากรอบอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ธปท.ระบุว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี ขณะที่นโยบายการเงินไม่ได้ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำแต่เป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ โดยการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อจะต้องให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท.ยังเน้นย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เป็นกลาง แต่พร้อมจะปรับเปลี่ยนหากมีความจำเป็นตามปัจจัยที่จะเข้ามากระทบพื้นฐานเศรษฐกิจ