Phones





SCB จับมือ KMUTT – เพจมนุษย์ต่างวัย ลงนาม MOU เตรียมพร้อมก่อนวัยเกษียณ

2024-07-02 15:04:34 113



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – SCB ร่วมกับ สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและเพจ “มนุษย์ต่างวัย” ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อการสร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ สู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน เตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่เกษียณวัยในระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม
 
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กรมาโดยตลอดในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว เรามีความเชื่อมั่นว่าแม้แต่ผู้สูงวัยก็ยังเป็นกลุ่มคนที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นบุคลากรมีคุณค่า สามารถส่งต่อองค์ความรู้ ประสบการณ์ ให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา หรือแม้กระทั่งให้กำลังใจแก่คนทำงานรุ่นหลังที่กำลังเติบโต และช่วยเหลือสังคมต่อไปได้
 
โดยธนาคารมีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการเงิน ทักษะด้านการงาน และทักษะด้านการใช้ชีวิต ทั้งนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือของ 3 ภาคส่วนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาทรัพยากรบุคลากรในสังคม เสมือนเป็นการช่วยติดอาวุธ และผลักดันศักยภาพของผู้สูงวัยให้มีคุณค่า เพื่อเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 
ด้านนายประสาน อิงคนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลช่องทางเครือข่ายโซเชียลมีเดีย “มนุษย์ต่างวัย” กล่าวว่า จากการทำงานของมนุษย์ต่างวัยในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักว่า ยิ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วเท่าไร การเตรียมความพร้อมให้กับสังคมก่อนเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องของสังคมสูงวัยไม่ใช่แค่เรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกเจเนอเรชัน หากว่าผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง มีความรู้ สามารถปรับตัวได้ ออกไปทำงานได้ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ลูกหลานเองก็จะมีความสุขด้วยเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสังคมสูงวัยนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ ซึ่งหากรอให้ภาครัฐดำเนินการเพียงอย่างเดียวคงจะรับมือไม่ทัน ความร่วมมือในครั้งนี้ ระหว่างบริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และธนาคารไทยพาณิชย์ จึงเรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากในการทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญให้แก่ผู้สูงอายุ และช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมนี้ร่วมกัน
 
นายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) กล่าวว่า ทางสำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากจะมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาบัณฑิตให้แก่สังคมแล้ว ยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญกับประเทศ นั่นคือการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งขึ้น
 
นอกจากนี้ KMUTT ก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันว่า ผู้สูงวัยเป็นผู้ที่มีทักษะความรู้และประสบการณ์ หากเราสามารถจับมือร่วมกันพาพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ไปช่วยส่งเสริมหรือพัฒนาผู้ประกอบการ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการสร้างมูลค่าในภาพใหญ่ของประเทศ ในขณะเดียวกันผู้สูงวัยเองก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งเราหวังว่าการร่วมมือของเราทั้งสามองค์กรนี้จะเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรอื่นๆ และขยายผลในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์กลุ่มนี้มาช่วยพัฒนาประเทศชาติของเราให้ไปข้างหน้าได้
 
สำหรับโครงการความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน มุ่งสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้แก่กลุ่มคนทำงานที่เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่เกษียณวัยและกลุ่มที่เกษียณวัยแล้ว เพื่อการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ของประเทศไทย โดยการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัย ผ่านกิจกรรมในหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ในทักษะที่สำคัญแห่งอนาคตทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทักษะการเงิน - การเงินดี มีความสุข ทักษะที่คนเกษียณต้องรู้, 2.ทักษะการงาน – สุข สวัสดี มีกินมีใช้ และ 3.ทักษะการใช้ชีวิต – เกษียณแน่ๆ ไม่แก่ ไม่เชย รวมถึงการสร้างประสบการณ์พร้อมใช้ในด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้สังคมได้ตระหนักและเห็นถึงศักยภาพของผู้สูงวัยที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และหมุนเวียนกลับเข้ามาสู่ระบบแรงงาน ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังทำให้ผู้สูงวัยเหล่านี้เป็นกลุ่ม Active Aging ที่มีทั้งสุขภาวะกายและใจที่แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน