Phones





ก.พลังงานคลอดหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนมี.ค.นี้

2020-02-18 14:35:55 1560




นิวส์ คอนเน็คท์ - ก.พลังงานประกาศหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน มี.ค.63 ลั่นเม.ย.-พ.ค.63 เปิดรับข้อเสนอระยะแรก 700 เมกะวัตต์จากทั้งหมด 1,900 เมกะวัตต์ คาดก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุน 1.15 แสนล้านบาท ส่วนแผนพีดีพีใหม่คงสัดส่วนพลังงานแทนเท่าเดิม แผน TIEB ฉบับใหม่ที่เสนอกพช.มี.ค.นี้


เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยก่อนเป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผ่นบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ว่า สาระสำคัญของแผน TIEB ฉบับใหม่ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน โดยแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP2018) ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า และความร้อนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) เพื่อสนับสนุนนโยบาย Energy For All ในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยในปี 2563 – 2567 จะมีพลังงานชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid กำลังผลิตรวม 1,933 เมกกะวัตต์


อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการไฟฟ้าชุมชนขนาดกำลังการผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์นั้นในระยะแรกจะเปิดคัดเลือกและรับซื้อไฟฟ้าก่อนขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ระหว่างปี 2563-2564 แบ่งเป็นโครงการ Quick Win 100 เมกะวัตต์ และอีก 600 เมกะวัตต์เปิดคัดเลือกทั่วไป โดยในจำนวนนี้จะนำร่องก่อน 4 โครงการ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ จากหญ้าเนเปีย จัดตั้งที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวมวล จากข้าวโพด และพืชโตเร็ว จัดตั้งที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 2 แห่งจะดำเนินการโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA ที่ จ.ยะลา และจ.นราธิวาส กำลังการผลิตรวม 6 เมกะวัตต์


ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มี.ค.63 หลังจากนั้นก็จะสามารถประกาศรายละเอียดเงื่อนไขการลงทุน (TOR) เพื่อให้เอกชนยื่นข้อเสนอพร้อมกับดำเนินการคัดเลือกเอกชนในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 63 และคาดว่าคัดเลือกรายชื่อแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.63 ส่วนที่เหลืออีกราว 1,200 เมกะวัตต์จะประกาศรายละเอียดต่อไปภายหลังจากดำเนินโครงในระยะแรกแล้วเสร็จ


“การออกเงื่อนไขรับซื่อในโครงการ Quick Win 100 เมกะวัตต์ และอีก 600 เมกะวัตต์เปิดคัดเลือกทั่วไปนั้นหลักเกณฑ์การคัดเลือกจะไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องรอรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแถลงในเดือน มี.ค.นี้ ส่วนจำนวนเมกะวัตต์ที่เหลืออีก 1,200 เมกะวัตต์ต้องรอสรุปการลงทุนโครงการในระยะแรกก่อนถึงจะเปิดรับคัดเลือกได้” นายกุลิศ กล่าว


ทั้งนี้การลงทุนโครงโรงไฟฟ้าชุมชนทั้ง 1,933 เมกะวัตต์นั้นคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวม 115,980 ล้านบาท และช่วยให้เกิดการกระจายลงทุนมากกว่า 200 ชุมชน อย่างไรก็ตามแม้จะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระดับ 7.7 สตางค์ต่อหน่วยก็ตามแต่ตนยืนยันว่าในภาพรวมจะไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า เนื่องจากมีการรับซื่อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากสปป.ลาว เข้ามาในราคาที่ถูก และการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซแอลเอ็นจี มีราคาถูกจะช่วยชดเชยให้เกิดราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมได้


ส่วนอีก 4 แผนที่เหลือภายใต้แผน TIEB ฉบับใหม่ คือ แผน PDP2018 Rev.1 มีการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงพลังงานโซลาร์เซลล์ลดลงเหลือ 9,290 เมกะวัตต์ จาก 10,000 เมกะวัตต์ และมากเพิ่มในสัดส่วนของเชื่อเพลิงก๊าซชีวภาพพืชพลังงานเป็น 1,000 เมกะวัตต์จาก 363 เมกะวัตต์ แต่ภาพรวมสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังเท่าเดิม 18,696 เมกะวัตต์


แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (Energy Efficiency Plan: EEP2018)ตั้งเป้าการลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี 2580 โดนมุ่งเน้นมาตรการเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการอนุรักษ์พลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้พลังงาน (Disruptive Technology) มีมาตรการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้พลังงานทุกสาขาเศรษฐกิจ และสร้างการมีส่วนร่วมของการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน


แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan2018) มีความสอดคล้องกับ PDP2018Rev.1 โดยพบว่าความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแนวโน้มการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง


ด้านการจัดหาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 มีความจำเป็นต้องจัดหา LNG Terminal ในภาคใต้ 5 ล้านตันต่อปี ในปี 2570 และการจัดหาก๊าซธรรมชาติผ่านโครงข่ายท่อบนบกจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมต่อไป


ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ยังจัดทำไม่เสร็จ ทั้งนี้แผน TIEB ฉบับใหม่คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือนมี.ค.นี้


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews