Phones





BAYหั่นจีดีพีปี63 ไวรัสโควิด-19ฉุดส่งออก

2020-02-24 17:33:38 3867




นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY มองปัญหาภัยแล้ง – ไวรัสโควิด-19 ฉุดตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 ดำดิ่ง ขณะที่ความล่าช้าของร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 กระทบต่อมูลค่าการลงทุนภาครัฐหดตัวเหลือเพียง 2.8 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีมูลค่าการลงทุนโครงการภาครัฐกว่า 4 แสนล้านบาท พร้อมปรับลดตัวเลขจีดีพีของไทยปี 63 เหลือเติบโตเพียง 1.5%


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงต้นปี 63 ถือว่ามีปัจจัยลบเข้ามากระทบค่อนข้างมาก ทั้งจากความล่าช้าของการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีระบาดยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยว และปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงและมีเวลานานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม


ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มีผลกระทบของต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยประเมินว่าจะทำให้การเติบโตของจีดีพีไทยต่ำกว่าประมาณการเดิม 0.4% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต และผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยจากการศึกษาพบว่าผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจะอยู่ในระดับช่วงไตรมาส 1/63 ในส่วนของผลกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตจะสูงสุดในไตรมาส 2/63 โดยคาดว่าการส่งออกจะลดลงเหลือติดลบ 1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.5%  


ขณะที่ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพ.ค. คาดจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีในปี 63 ให้ลดลงจากประมาณการเดิม 0.3% ซึ่งปริมาณน้ำที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมแล้ว ยังกระทบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานด้วย  


ทั้งนี้ จากปัจจัยลบดังกล่าวจึงประเมินว่าตัวเลขจีดีพีของไทยในช่วงไตรมาส 1/63 จะติดลบ 0.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และติดลบ 1.5% จากไตรมาส 4/62 ก่อนที่จะเริ่มเห็นหารฟื้นตัวเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2/63 ขณะที่ธนาคารได้ปรับลดตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 63 ลงมาเหลือเติบโตเพียง 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.5% เนื่องจากความล่าช้าของการผ่านร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 63 โดยรัฐบาลคาดว่างบประมาณปี 63 จะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในกลางเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งมองว่าจะกระทบต่อการมูลค่าลงทุนภาครัฐที่ลดลงเหลือเพียง 2.8 แสนล้านบาท จากงบลงทุนโครงการภาครัฐราว 4.3 แสนล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นทั้งจากนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน ซึ่งในส่วนของนโยบายทางการเงินนั้นธนาคารคาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค.นี้ มาอยู่ที่ระดับ 0.75% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% ต่อปี เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนกลไกทางการเงินให้เข้ามาทดแทนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆที่ไม่สามารถเติบโตได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศ


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews