Phones





PSP จับมือ GGC ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ

2024-11-06 14:27:18 119



นิวส์ คอนเน็คท์ - PSP จับมือ GGC ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ EnPAT พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนแห่งอนาคต

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP ผู้นำด้านโซลูชันน้ำมันหล่อลื่น นำโดย นายเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ผู้นำด้านธุรกิจเคมีชีวภาพ และบริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม Green Flagship Company ของ GC Group นำโดย นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ เพื่อร่วมกันพัฒนาและผลักดันผลิตภัณฑ์น้ำมัน หม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ EnPAT ให้ก้าวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อความต้องการในตลาดพลังงานหมุนเวียน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผลิตภัณฑ์ EnPAT ได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิดที่เน้นความยั่งยืน โดยใช้วัตถุดิบชีวภาพจากปาล์มน้ำมันไทย ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล นอกจากนี้ ข้อตกลงนี้ยังมุ่งเน้นการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม พร้อมการทำงานร่วมกันในด้านการตลาดและการจัดจำหน่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ในอนาคต

นายเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSP กล่าวว่า “การร่วมพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์มไทยในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการสำคัญที่ไม่เพียงส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบัน PSP กำลังทดสอบการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ EnPAT ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ EnPAT ซึ่งทีมวิจัยได้ติดตั้งต้นแบบระบบการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่มีกำลังการผลิตประมาณ 300 ลิตรต่อครั้ง และได้ทำการทดสอบระบบจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ GGC กล่าวว่า GGC ร่วมกับภาครัฐดำเนินโครงการ EnPAT โดยพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์มที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้มีการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อสร้างโอกาสในการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ BCG Model และ New S-Curve ด้าน Biochemicals ช่วยเพิ่มมูลค่าให้น้ำมันปาล์ม สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย และทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคต ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในระดับสากล สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของ GGC ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน