Phones





SCB CIO หวั่นมาตรการภาษีฉุดศก.โลกหดตัว หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

2024-11-08 18:06:23 90



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - SCB CIO หวั่นเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหลังทรัมป์คว้าชัยชนะเลือกตั้งปธน.สหรัฐ  จากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และต่างประเทศ ส่วนหุ้นสหรัฐฯ รับอานิสงส์จากมาตรการยืดเวลาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรการจูงใจการลงทุนของภาคธุรกิจ และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
 
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน คว้าชัยชนะ ครองตำแหน่งว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 โดยพรรครีพับลิกัน ครองเสียงข้างมากทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร SCB CIO มองว่า นายทรัมป์ จะสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ประกาศเอาไว้ได้อย่างราบรื่น หนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมีโอกาสขาดดุลการคลังมากขึ้นและต่อเนื่อง รวมถึงเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว
 
โดยนโยบายสำคัญของนายทรัมป์ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการลงทุน ได้แก่ นโยบายด้านภาษี โดยประกาศไว้ว่า จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนสูงสุดที่ 60% และมีความเป็นไปได้ที่จะเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศอื่นๆ 10-20%  โดย SCB CIO มองว่า นายทรัมป์ อาจไม่เร่งรีบการปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศอื่นๆ แต่จะเร่งดำเนินการกับจีน โดยคาดว่า หากจะปรับขึ้นภาษี จะพุ่งเป้าไปยังประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากๆ ก่อน โดยก่อนจะดำเนินนโยบาย นายทรัมป์อาจเน้นการเจรจาประเทศคู่ค้าเหล่านี้ ให้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งอาจไม่ได้เป็นผลดีต่อประเทศคู่ค้า
 
ขณะที่ข้อตกลงการค้ากับคู่ค้าต่างๆ ของสหรัฐฯ อาจถูกปรับเปลี่ยนเงื่อนไข หรือล้มเลิกได้หลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดี ดังนั้น คาดว่านโยบายนี้จะทำให้การค้าโลกชะลอตัว โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ประกาศนโยบายภาษี จะส่งผลกระทบกับประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก รวมถึงประเทศไทยที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญ ส่วนประเทศที่มีเศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่ พึ่งพาตัวเองได้มากจะได้รับผลกระทบน้อย
 
นอกจากนี้ นายทรัมป์ ยังมีนโยบายยืดเวลาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมจะหมดอายุปลายปี 2568 ออกไปอีก 10 ปี รวมถึงการฟื้นมาตรการจูงใจการลงทุนของภาคธุรกิจ ซึ่ง SCB CIO มองว่าจะเป็นผลดีต่อการบริโภคและการลงทุน ขณะที่นโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 21% เหลือ 15% อาจไม่สามารถทำได้มากเท่ากับที่เคยเสนอไว้ เนื่องจาก อาจไม่ใช่นโยบายลำดับต้นๆ ที่จะดำเนินการ อีกทั้งต้องคำนึงถึงการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้น จากการปรับลดภาษีอื่นๆ ด้วย แต่ในกรณีที่สามารถผลักดันการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ก็จะส่งผลให้ กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นการผ่อนคลายด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพลังงาน และการเงิน เช่น การยกเลิกข้อจำกัดและอุปสรรคในการพัฒนาน้ำมันและก๊าซ การเพิ่มการส่งออก LNG การยกเลิกข้อจำกัดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ด้านฐานทุนและสภาพคล่องของธนาคาร ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บางส่วน ขณะที่ประเด็นด้านผู้อพยพ คณะทำงานของนายทรัมป์จะพยายามลดจำนวนผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐฯ โดยอาจทำให้ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดที่เข้ามาเฉลี่ย 1 ล้านคนต่อปี ส่วนประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นายทรัมป์ ค่อนข้างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนยูเครน เท่ากับนายโจ ไบเดน ขณะที่ยังมีแนวโน้มสนับสนุนอิสราเอลต่อไป เราจึงคาดว่า สงครามตะวันออกกลางจะยังคงไม่จบเร็ว การตอบโต้ยังดำเนินต่อไปเป็นระยะ ภาพของตะวันออกกลางยังคงไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัย
 
ทั้งนี้ SCB CIO คาดว่า ในช่วง 100 วันแรกของ นายทรัมป์ หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี จะเน้นใช้อำนาจฝ่ายบริหาร (executive authority) เกี่ยวกับผู้อพยพ และการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนตามมา ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าการดำเนินนโยบายภาษีนำเข้าของนายทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกชะลอตัว โดยอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ไทย 0.3-0.5% ในกรณีที่นายทรัมป์ ดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ทั้งหมด ส่วนความหวังที่ไทยจะใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมีความท้าทายมากขึ้น หาก Fed ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทำได้ช้าลงตาม
 
ดังนั้น ประเทศไทยอาจต้องหาแนวทางลดผลกระทบทางการค้าด้วยการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เติบโตจากภาคส่วนอื่นมากขึ้น เช่น การบริโภค การท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งเรามองว่า การพุ่งเป้าหมายดึงดูดการลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้เริ่มเห็นเงินลงทุนเข้ามาแล้ว ก็อาจเป็นจุดสนใจใหม่ของไทยได้
 
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน SCB CIO มองว่า ประเด็นการทำสงครามการค้า จะทำให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่ลดลง และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง รวมถึงการที่ Fed ยังมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย อีกทั้งนโยบายของนายทรัมป์ที่สนับสนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้ในระยะสั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความน่าสนใจ มีโอกาสทำผลงานได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก ส่วนระยะยาว ความกังวลบนประเด็นขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นที่จะกระทบ Valuation ผ่าน UST Yield ตัวยาวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงที่ประเทศคู่ค้าจะตอบโต้กลับทางการค้าสหรัฐฯ
 
ขณะที่หุ้นที่พึ่งพารายได้ในสหรัฐฯ เป็นหลัก มีแนวโน้มจะทำผลงานได้ดีกว่ากลุ่มที่พึ่งพารายได้นอกสหรัฐฯ ในระยะสั้น เราจึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ขนาดเล็ก (Russell 2000) ภายใต้พอร์ตลงทุนระยะสั้น (Opportunistic Portfolio) เมื่อพิจารณากลุ่มหุ้นที่น่าจะได้รับผลบวกจากการที่นายทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มพลังงาน และกลุ่มยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ส่วนกลุ่มที่อาจเผชิญแรงกดดัน ได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สื่อสาร เทคโนโลยี พลังงานสะอาด และสุขภาพ ส่วน ทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสทยอยสะสมต่อได้บนพอร์ตลงทุนระยะยาว (Core Portfolio) เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากธนาคารกลางต่างๆ ยังคงสะสมทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างมีนัย และแนวโน้มจะยังคงเป็นเช่นนี้ ทำให้ภาพรวมราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อไป