Phones





“สนธิรัตน์”คิกออฟยื่นสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่

2020-03-05 11:31:13 1700




นิวส์ คอนเน็คท์ - “สนธิรัตน์” ประกาศให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่พื้นที่อ่าวไทยเดือนเม.ย.นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศจากเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ด้าน "เชฟรอน" มั่นใจรื้อถอนแท่นพร้อมส่งมอบแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา


เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกิจการผลิตปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ว่า กระทรวงพลังงานและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 23 บริเวณทะเลอ่าวไทย ประมาณช่วงเดือนเมษายน 63 ซึ่งเป็นการเปิดรอบใหม่หลังจากว่างเว้นมา 13 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศได้มีการพัฒนา แหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ และรักษาระดับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง


โดยความคืบหน้าในขณะนี้ ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการออกประกาศกำหนดพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมแล้ว จำนวน 3 แปลงในอ่าวไทย รวมพื้นที่กว่า 34,873 ตารางกิโลเมตร และอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การเปิดให้เอกชนเข้ามาศึกษาข้อมูลไปจนถึงประกาศผู้ชนะการประมูล โดยคาดว่าจะมีการลงนามกับผู้ชนะการประมูลประมาณต้นปี 64


ทั้งนี้ การลงทุนในแหล่งใหม่จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 10,000 ล้านบาทหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียมนั้น ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน การสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย รวมถึงสร้างรายได้ให้กับประเทศในรูปแบบค่าภาคหลวง โดยที่ผ่านมามีการเก็บค่าภาคหลวงแล้วกว่า 100,000 ล้านบาทไม่รวมภาษี



ปัจจุบันกิจการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยฯ นั้นมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของเดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ 1,257 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คอนเดนเสท หรือก๊าซธรรมชาติเหลว เฉลี่ยอยู่ที่ 44,519 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ เฉลี่ยอยู่ที่ 27,324 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ (แปลงสำรวจหมายเลข 10, 11, 12 และ 13) หรือ 191 หลุมจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 65 จากนั้นจะบริหารจัดการภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชนะการประมูลเมื่อปี 61 ที่ผ่านมา


ส่วนแหล่งปิโตรเลียมบนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (overlapping claims area : OCA) นั้น กระทรวงพลังงานได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพร้อมเตรียมเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เนื่องจากว่าในแหล่งนี้จะเกิดประโชยน์กับประเทศชาติต้องรีบเร่งหารือ


ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น เชฟรอนฯ ต้องข้อดูข้อมูลรายละเอียดเงื่อนไข และแปลงที่ภาครัฐจะเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจฯ ก่อนถึงจะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ส่วนในพื้นที่เอราวัณที่จะสิ้นอายุสัญญาสัมปทานในเดือน เม.ย.65 นั้น ทางบริษัทได้จัดส่งรายละเอียดข้อมูลเบื้องต้นของแท่นหลุมผลิต 191 แท่นให้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาแล้ว ซึ่งการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมเชื้อเพลิงว่าจะรื้อกี่แท่น โดยบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันก่อนสิ้นสุดสัญญา


ขณะเดียวกัน เชฟรอนฯ มีแหล่งผลิตในประเทศไทยเหลืออยู่ 4 แปลงที่ไม่ต้องส่งมอบในปี 65 คือ แปลงไฟลินB12/27 แปลงเบญจมาศ B8/32 และแปลงสำรวจ G4/43 ลันตากับสุรินทร์และ G4/48 ใช้ facilities ร่วมกับแปลงปลาทอง ส่วนพื้นที่ OCA บริษัทถือหุ้นตั้งแต่แปลงที่ 5-13 แต่ละแปลงสัดส่วนการถือหุ้นไม่เท่ากัน


ปัจจุบัน เชฟรอนฯ มีกำลังปิโตรเลียมรวมทั้งในประเทศไทยราว 400,000 บาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ แบ่งเป็นการผลิตน้ำมันดิบ 50,000 บาร์เรลต่อวัน คอนเดนเสท 58,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 1,670 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งการลงทุนในการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมของเชฟรอนฯ ในประเทศไทยนั้นช่วยสนับสนุน GDP ของไทยโต 1.9% ต่อปี


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews