Phones





KBANKส่องศก.ไทยอ่วมรับพิษโควิด-19

2020-03-05 18:04:09 1193




นิวส์ คอนเน็คท์ – KBANK หั่นจีดีพีของไทยในปี 63 เหลือเติบโต 0.5% จากเดิม 2.7% หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 ส่อแววติดลบ เข้าภาวะถดถอยทางเทคนิค แต่หวังไตรมาส 3-4 กลับมาฟื้นตัว พร้อมลุ้นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 0.25-0.5% พยุงเศรษฐกิจ


เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 63 เหลือเพียง 0.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7% โดยเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/63 และไตรมาส 2/63 จะติดลบราว 1% ก่อนที่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3/63 และฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในไตรมาส 4/63


ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปราว 4.1 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของจีดีพี และจำนวนนักท่องเที่ยวรวมจะหายไปราว 8.3 ล้านคน หรือลดลงถึง 20.8% จากปีก่อน ขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะติดลบมากถึง 5.6% จากเดิมที่ประเมินว่าจะติดลบ 1.0% เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง และความต้องการต่อสินค้าออกของไทยลดลง


นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะของจีนที่กระทบต่อเนื่องมายังภาคการผลิตของไทย ขณะเดียวกันการบริโภคและลงทุนในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้จ่าย และเดินทางออกนอกบ้าน ทำให้ธุรกิจค้าปลีกของไทยในปีนี้น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ซึ่งจากผลกระทบดังกล่าวจำเป็นต้องติดตามปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ และสถานการณ์การจ้างงาน ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะหน้าที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเป็นลำดับแรก รวมทั้งยังต้องติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะออกงบประมาณเพิ่มเติมด้วย


ในส่วนของนโยบายด้านการเงิน คาดว่าผลกระทบที่จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากการหดตัวชั่วคราวของจีดีพีในไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ของปี น่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 0.25-0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ แม้การปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว แต่จะช่วยในเรื่องของภาระต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนให้ลดลงบางส่วน


สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น มองว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วเพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ทุดตัวอย่างรุนแรง แต่มองว่าคงไม่สามารถชดเชย หรือกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews