Phones





TOPกางแผน5ปีอัดงบลงทุน4-5พันล้านเหรียญฯ

2020-03-05 20:23:50 1308




นิวส์ คอนเน็คท์ - TOP กางแผน 5 ปีอัดงบลงทุน 4-5 พันล้านเหรียญ ลุยขยายลงทุนโครงการ CFP ปีนี้คาดใช้เงินลงทุน 2 พันล้านเหรียญ ขณะที่ภาพรวมกำลังการผลิตในปีนี้คาดเฉลี่ยในระดับ 110% หลังจากปีก่อนหยุดซ่อมบำรุง ส่วนทิศทางค่าการกลั่นคาดครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมปรับลดการผลิตน้ำมันอากาศยานลงหลังรับผลกระทบไวรัสโควิด- 19


เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด  (มหาชน ) หรือ TOP เปิดเผยหลังหลังพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลักโครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP ) ว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (63-67) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ CFP


ขณะที่ปี 63 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับลงทุนในโครงการ CFP ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 31% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมรวมถึง การปรับปรุงพื้นที่และงานวางฐานราก เพื่อรองรับงานติดตั้งโครงสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม โครงการ CFP นั้นได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 62 พร้อมกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จไตรมาส1/66


ทั้งนี้ การลงทุนโครงการ CFP นั้นเป็นกานเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่น ด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นสามารถเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้นกว่า 40-50% นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซล รวมถึงรองรับการผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ขณะเดียวกันโครงการนี้จะส่งผลให้บริษัทฯ มี EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (Gross Integrated Margin: GIM) เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


ส่วนภาพรวมอัตราการใช้กำลังการกลั่นในปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 110% จากปีก่อนอยู่ในระดับ 100% และอัตราการใช้กำลังการผลิตปิโตรเคมี คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 80% เนื่องจากปี 62 นั้นมีการหยุดซ่อมบำรุง โดยคาดว่ามาร์จิ้นอะโรเมติกส์จะปรับตัวดีขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนทิศทางค่าการกลั่น (GRM) คาดว่าจะดีกว่าปี 62 ที่เฉลี่ยอยู่ในระดับ 3-4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าครึ่งปี63 ค่าการกลั่นจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาส2/63 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันและความต้องการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการกลั่นน้ำมันกำมะถันต่ำตามมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO)


อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ความต้องการใช้น้ำมันลดลงโดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานปรับตัวลดลงในช่วงเดือน ก.พ.63 ส่งผลกระทบส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยานเทียบกับน้ำมันดิบลดลงอยู่ 6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากในระดับ 16-18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นในเดือน มี.ค.-เม.ย.63 บริษัทจึงจะปรับสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยานลดลงจาก 23% เหลือ 13-15% แล้วเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันดีเซลเป็น 43-45% เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบอยู่ในระดับ 8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล


ส่วนผลประกอบการในปีนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ในตอนนี้ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงก่อน เนื่องจากไวรัสโควิด-19 กระทบโดยตรงกับราคาน้ำมัน ความต้องการใช้น้ำมัน และค่าการกลั่น อย่างไรก็ตามจากผลกระทบดังกล่าวนั้นยังมีธุรกิจไฟฟ้ามาช่วยลดผลกระทบได้บ้าง นอกจากนี้บริษัทยังมีการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่ดี ขณะที่ขบวนการผลิตก็มีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับขบวนการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการใช้และราคาของแต่ละผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ คาดว่าต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะลดลงในปีนี้จากปัจจุบันที่อยู่เฉลี่ยราว 3% หลังจากมองโอกาสออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ โดยเตรียมขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย.เพื่อพิจารณาออกหุ้นกู้เพิ่มเติม 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 68 รองรับการลงทุนหรือชำระหนี้ขณะที่กระแสเงินสดนั้นมีเข้ามาปีละ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีภาระจ่ายคืนเงินกู้ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews