Phones





กกพ.ตรึงเอฟที4เดือน-คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้ามี.ค.

2020-03-13 09:21:10 1336




นิวส์ คอนเน็คท์ - กกพ.เตรียมใช้เงิน41,120 ล้านบาท ตรึงค่าเอฟทีงวด พ.ค. – ส.ค.63 คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ลดค่าไฟฟ้า3% ตามมติครม.หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือโควิด-19


เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กกพ.มีมติให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือนพ.ค. – ส.ค. 2563 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ต่ออีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5,120 ล้านบาทในการบริหารจัดการเพื่อตรึงค่าเอฟที


สำหรับภาวะการณ์ในระยะ 4 เดือนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งคาดว่าราคาเชื้อเพลิงในช่วงนี้มีแนวโน้มลดลง อาทิ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตามการประมาณการค่าเอฟทีต้องนำภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากส่วนต่างค่าเอฟทีประมาณการกับค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริงมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในครั้งนี้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากประมาณการไว้


ส่วนกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 63 มีมติลดค่าไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 3 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย. – มิ.ย. 63) นั้นกกพ.จะเร่งหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หาแนวทางการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า และสัดส่วนเงินที่จะนำมาอุดหนุน โดยคาดว่าจะใช้วงเงินราว 6,000 ล้านบาทมาช่วยอุดหนุนส่วนลดค่าไฟฟ้า


สำหรับการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามมติ ครม.นั้นอยู่ระหว่างเจรจากับ กฟน.และกฟภ.ในหลักเกณฑ์การคืนเงินว่าจะต้องคือเงินในรูปแบบใด เช่น ผ่านบัญชี หรือตัดจากบิลค่าไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือน หรือให้เป็นทางเลือกทั้ง2 แนวทางนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวก โดยพิจารณาจากกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติที่พร้อมก่อน โดยจะทยอยคืนให้ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก รวมประมาณ 21.5 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่กล่าวมาจะส่งให้ต้องใช้วงเงินรวมทั้งหมดราว 41,120 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม กกพ.มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินทยอยคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับกลุ่มแรกภายในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งต้องดูว่าชื่อผู้วางประกันตรงกับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือไม่และต้องไม่มีการค้างชำระค่าไฟฟ้าจะได้รับการพิจารณาคืนเงินประกันก่อน ส่วนผู้ขอใช้มิเตอร์ไฟฟ้าใหม่หลังจากมีมาตรการนี้ออกมาจะไม่การเก็บคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดยจะเป็นเพียงการเก็บค่าเชื่อมต่อมิเตอร์ 700 บาท


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews