Phones





กลุ่มปตท.-VISTECเตรียมคลอดชุดตรวจCOVID-19

2020-03-17 19:24:43 1042




นิวส์ คอนเน็คท์ - กลุ่ม ปตท. - VISTEC จับมือพันธมิตรและภาคีเครือข่าย ร่วมวิจัยชุดตรวจ COVID-19 เร่งทดสอบความแม่นยำให้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30 – 45 นาที ช่วยลดระยะเวลาการวินิจฉัยโรค ด้วยต้นทุนต่ำ เบื้องต้นมีวัตถุดิบรองรับการผลิต 1 หมื่นชุด


เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ธนาคารไทยพาณิชย์ และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี โดยความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจาก สถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA ในการวิจัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ให้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30 – 45 นาที โดยหากใช้อุปกรณ์นี้จะใช้เงินในการตรวจประมาณ 500-1,000 บาท ซึ่งรวดเร็วกว่าวิธีการตรวจในปัจจุบันที่ใช้เวลา 4 – 6 ชั่วโมง ราคาอยู่ที่ 3,000-13,000 บาท


อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นมีวัตถุดิบรองรับการผลิตราว 10,000 ชุด หากผลการทดสอบมีความแม่นยำจากการตรวจวัดผู้มีความเสี่ยงกว่า 100 คน ก็พร้อมผลิตออกมาให้คณะแพทย์ของ รพ.ศิริราชใช้ในการตรวจได้ทันที โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการทดสอบประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ และเพื่อความรวดเร็วในการรับมือหากเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.ได้มีการสั่งซื้อสารเคมีสำหรับเป็นวัตถุดิบในผลิตชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 เข้ามาเพิ่มโดยใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท สามารถผลิตผลิตชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 ได้ราว 1 แสนชุดต่อเดือน


นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า การเร่งทดสอบตรวจวินิจฉัย COVID-19 เพื่อเตรียมแนวทางในการขยายชุดทดสอบไปยังโรงพยาบาลในภาคีเครือข่ายอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การวินิจฉัยเชื้อไวรัสนี้ของหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที และทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลงในเร็ววัน


ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ศิริราชฯ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของการใช้งานของชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 มาแล้ว 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการใช้คู่ขนานกับวิธีการตรวจวิจัยผู้ป่วย COVID-19 แบบทั่วไป และจะใช้ทดสอบอีกระยะ หรือครอบคลุมจำนวนผู้ป่วยประมาณ 100-200 ราย เพื่อให้มั่นใจว่าชุดตรวจดังกล่าวมีความแม่นยำพอ เพื่อลดขั้นตอนในการส่งไปตรวจซ้ำที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันผลตรวจทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อกรณีที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หรือเข้าสู่ระยะการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อ COVID-19 ระยะที่ 3


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews