Phones





ครม.เคาะกรอบรื้อถอนแท่นบงกช-เอราวัณ

2020-04-01 16:49:18 812




นิวส์ คอนเน็คท์ - “สนธิรัตน์” ระบุ ครม.ไฟเขียว กรอบรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกช มั่นใจช่วงเปลี่ยนผ่านไม่สะดุด สามารถผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดใช้เงินรื้อถอนประมาณ 12,000 ล้านบาท พร้อมเร่ง ปตท.สรุปแผนนำเข้า LNG ราคาถูกโดยเร็ว


เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 ได้เห็นชอบกรอบการส่งมอบสิ่งติดตั้งหรือแท่นผลิตปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในช่วงปี 2565-66 ตามที่คณะกรรมการปิโตรเลียมนำเสนอแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ทางผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ กลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP และพันธมิตร ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งบงกชในปัจจุบัน จะต้องจัดทำแผนการรื้อถอนเสนอมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่า จะต้องวางแนวทางล่วงหน้าก่อนหมดอายุสัมปทานเป็นเวลา 2 ปี รวมถึงต้องวางหลักประกันตามที่กฎหมายกำหนด


ดังนั้น มั่นใจว่าการส่งมอบงานในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ผู้รับสิทธิ์รายใหม่ คือ PTTEP และพันธมิตร จะเป็นตามแผนที่รัฐกำหนด โดยปริมาณการผลิตปิโตรเลียมขั้นต่ำต่อวันจากทั้ง 2 แหล่ง ต้องไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากสิ้นสุดสัมปทานและสามารถดำเนินการผลิตได้ทันทีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิต

นายสนธิรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่ต่ำลงมาก โดยปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูนั้น ได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เร่งศึกษาและเจรจากับผู้ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย เพื่อลดกำลังผลิตลงและยืดอายุสำรองก๊าซฯในประเทศให้นานขึ้น พร้อมใช้จังหวะนี้นำเข้า LNG ราคาถูกมาใช้ประโยชน์แทน ซึ่งได้เร่งให้ ปตท.สรุปแผนมานำเสนอโดยเร็ว


ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม กล่าวว่า เชฟรอนฯ ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน ได้แจ้งเรื่องการส่งมอบแท่นผลิตแก่รัฐแล้ว จำนวน 191 แท่น โดยรัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ประมาณ 142 แท่น และส่วนที่ เชฟรอนฯ จะต้องทำการรื้อถอน จำนวน 49 แท่น ขณะที่ PTTEP ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งบงกชในปัจจุบัน ได้เตรียมส่งมอบแท่นผลิตแก่รัฐ จำนวน 50 แท่น โดยในจำนวนนี้รัฐจะเก็บไว้ในประโยชน์ 46 แท่น และส่วนที่ PTTEP จะต้องทำหารรื้อถอน ประมาณ 4 แท่น โดยขณะนี้ จะต้องรอมติ ครม.อย่างเป็นทางการ จากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะแจ้งเรื่องไปยังผู้รับสัมปทานทั้ง 2 แหล่งเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป


ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อแท่น ทั้ง 2 แหล่ง จะรื้อถอนรวม 53 แท่น คาดว่า ต้องใช้วงเงินรื้อถอนประมาณ 12,000 ล้านบาท


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews