Phones





KBANK ลุยเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น “แมสเปี้ยน” 40%

2020-04-15 15:56:01 326




นิวส์ คอนเน็คท์ – KBANK รับไฟเขียว ธปท.เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น “แมสเปี้ยน” เป็น 40% จากเดิมถือ 9.99% วางกลยุทธ์นำนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการเพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นในอินโดนีเซีย พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการแก่นักธุรกิจไทยและต่างชาติ


เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVision) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 63 ทาง KVision ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรวมเป็น 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) อนุญาตภายใต้กฎการถือครองหุ้นธนาคารในอินโดนีเซียโดยผู้ถือหุ้นที่เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนจากที่ KBANK มีอยู่เดิม 9.99% ตั้งแต่ปี 60


ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่า มากกว่าการเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด แม้ธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ พร้อมเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งสามารถต่อยอดความสัมพันธ์ของธุรกิจหลากหลายในทุกกลุ่มลูกค้า รวมทั้งผู้บริหารธนาคารมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของทาง KBANK


โดยการลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยนครั้งนี้ ธนาคารจะดำเนินการผ่าน KVision ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนที่ธนาคารถือครองหุ้น 100% ในลักษณะเดียวกับการเข้าไปลงทุนในธนาคารเอแบงก์ของเมียนมา โดยจะใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการเข้าถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนเพิ่มในครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจาก OJK ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้


นอกจากนี้ นับตั้งแต่ธนาคารได้เข้าไปศึกษาและร่วมทำงานกับทีมงานของธนาคารแมสเปี้ยนเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่ค่อนข้างมากในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโต และมีอนาคตสดใสในอาเซียน โดยสามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร รวมถึงจะใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัล แบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอินโดนีเซียที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นการร่วมกันครั้งสำคัญ เพื่อนำจุดแข็งของสองธนาคารไปต่อยอดพัฒนาบริการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซีย โดยจะใช้กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตามกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม


โดยกลุ่มธุรกิจบรรษัทขนาดใหญ่ ธนาคารจะมีการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยและต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซียรวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งสินเชื่อและบริการการจัดการทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาช่องทางอินเทอร์เนท แบงกิ้งและผลิตภัณฑ์ Payroll เพื่อเพิ่มความสะดวกและหลากหลายในการใช้บริการของลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล


ขณะที่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี จะมุ่งเน้นการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อมโดยใช้ Data Lending และ Formula Lending Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร (Acquiring Business) เพื่อรองรับการชำระเงินแบบ Non-Cash Payment ในส่วนของกลุ่มลูกค้าบุคคลจะมีการนำนวัตกรรมมาปรับปรุงระบบโมบายแบงกิ้งที่มีให้ดีมากขึ้น และผลักดันสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล รวมถึงพัฒนา Data Analytic Lending Platform โดยใช้ Data จากธุรกิจร้านค้ารับบัตร


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews