Phones





กกพ.เล็งคุยเอกชนหยุดผลิตไฟฟ้า

2020-04-17 17:40:19 329




นิวส์ คอนเน็คท์ - กกพ.เล็งหารือเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง แก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ จากผลกระทบของโควิด-19


เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศลดลง ส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากการแพร่ระบาดกินเวลานาน มีแนวโน้มต่อปริมาณการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก และกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนต้องแบกรับภาระมากขึ้น ดังนั้น กกพ.เตรียมหารือกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จากที่ก่อนหน้านั้น ได้มีการหารือกับ กฟผ.บ้างแล้ว ถึงแนวทางแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้น


โดยขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมเสร็จในสัปดาห์นี้ และจะได้ทราบข้อมูลว่า การใช้ไฟฟ้าของกลุ่มใดลดลงและกลุ่มใดสูงขึ้น เบื้องต้นคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมจะใช้ไฟฟ้าลดลงและกลุ่มครัวเรือนจะใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนแล้วจะประชุมร่วมกับ กฟผ. อีกครั้งหาข้อสรุปมาตรการปรับแผนการสั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าใหม่ ว่าควรปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใด และปริมาณเท่าไหร่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร หลังจากก่อนหน้านี้ได้เจรจากับกฟผ.ในเบื้องต้นแล้วยังไม่ได้ข้อสรุป


ทั้งนี้ ภายหลังหารือกับกฟผ.จนได้ข้อสรุปแล้ว จะดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนต่อไป เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้า โดยแนวทางของการลดกำลังการผลิตไฟฟ้านั้นต้องเลือกโรงไฟฟ้า เอกชนรายใหญ่ (IPP) และ โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ดำเนินการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง ซึ่งจากข้อมูลที่มีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมระหว่างไอน้ำกับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน หรือลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าต้นทุนสูงแต่ด้อยประสิทธิภาพ โดยแนวทางการลดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าโคเจอเนอเรชั่นดูแนวโน้วจะเป็นไปได้มากกว่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนใหญ่เป็นโซลาร์ฟาร์มที่ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงกลางวันจะไปขอลดกำลังการผลิตได้อยาก


อย่างไรก็ตาม หากเอกชนไม่ร่วมมือ ก็จะพิจารณาในแนวทางอื่นที่เคยทำก่อนหน้านั้น เช่น ชะลอการซื้อไฟฟ้าออกไป แล้วค่อยไปเพิ่มปริมาณการรับซื้อในปีถัดไป และจะเห็นผลด้านปริมาณไฟฟ้าให้มีการผลิตเหมาะสมกับการใช้ในระยะที่เกิดปัญหา ไวรัสโควิด-19 ได้รวดเร็วกว่าการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่เป็นแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนเป็นส่วนใหญ่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากแนวทางการปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าเริ่มดำเนินการนั้นอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP และผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม แต่การลดกำลังการผลิตนั้นเอกชนก็จะได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availablity Payment -AP)ในอัตราที่สูงเข้ามาชดเชย แต่หากเอกชนไม่ดำเนินการลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจะส่งผลต่อปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยแนวทางที่ต้องดำเนินการเพื่อรองรับปัญหาที่อาจจะส่งผลในระยะยาวไปถึงปีหน้า กระทรวงพลังงานต้องพิจารณาปรับเลื่อนแผน PDP ออกไป


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews