Phones





PTT จับมือ กฟผ. ศึกษานำเข้าก๊าซLNG

2020-05-12 16:23:40 1006




นิวส์ คอนเน็คท์ – PTT จับมือ กฟผ. ลงนามข้อตกลงความร่วมมือศึกษาในโครงการ LNG Receiving Facilities รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ ผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP2018 ยัน RATCH ไม่สามารถนำเข้า LNG ผลิตไฟฟ้าเองได้ เพราะติดปัญหาคุณภาพก๊าซ


เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในบันทึกความร่วมมือศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Receiving Facilities สำหรับ รับ เก็บ และแปรสภาพก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ฉบับใหม่นั้น ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ทั้งนี้ความร่วมมือกันในครั้งนี้นอกจากเป็นการศึกษา LNG Receiving Facilities แล้วยังเป็นการร่วมกันพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอีกด้วย


นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือของทั้งสององค์กร เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าความมั่นคงทางพลังงานของประเทศจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ในส่วนของโรงไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตามแผนดังกล่าว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนอม (จังหวัดนครศรีธรรมราช) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ EGCO กำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ COD ในปี 2570 และ 2572) และโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ระบุ COD ในปี 2578 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้เป็นเพียงความร่วมมือศึกษาในโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG รองรับโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่จ.สุราษฎร์ ที่ต้องเร่งศึกษาส่วนรูปแบบการร่วมลงทุนยังไม่ชัดเจน ซึ่งมีทั้งรูปแบบคลัง LNG ลอยน้ำ หรือ FSRU และในรูปแบบคลัง LNG บนบก โดย ปตท.มีความชำนาญเรื่องท่อก๊าซฯ และสถานีรับ-จ่ายก๊าซLNG คลังLNG ส่วนกฟผ.มีความเชี่ยวชาญโรงไฟฟ้า ดังนั้นอาจจะแยกกันลงทุนตามความชำนาญหรือจะร่วมลงทุนกันก็ได้ โดยอาจจะสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซฯที่ จ.นครศรีธรรมราช แล้ววางท่อก๊าซฯไปยังโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ส่วนการจัดหาก๊าซLNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้านั้นยังไม่ได้กำหนดถึงขั้นนั้น


ส่วนการเจรจาขายก๊าซ LNG ให้กับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าหินกองกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตามตนมองว่า RATCH คงจะไม่สามารถนำเข้าก๊าซฯ เองได้ เนื่องจากติดปัญหาด้านคุณภาพก๊าซฯ รวมทั้งการจัดส่งก๊าซฯ ผ่านท่อจากจากภาคตะวันออกไปยังจ.ราชบุรีเป็นระยะทางค่อนข้างไกลซึ่งมีความลำบากและต้นทุนสูง ดังนั้น มองว่าการนำเข้าก๊าซฯ เพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าหินกองนั้นต้องนำเข้าจากเมียมา ซึ่ง ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการคลัง LNG ลอยน้ำ หรือ FSRU ที่เมียนมา แต่ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าการลงทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะหากปตท.จะลงทุนคงต้องมีความต้องการใช้ก๊าซฯในไทยในปริมาณที่มากจึงคุ้มค่ากับการลงทุน


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews