Phones





SCB ส่องศก.CLMVทรุดหนักเซ่นพิษโควิด

2020-05-14 15:31:59 379




นิวส์ คอนเน็คท์ – EIC SCB คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี 63 ชะลอตัวอย่างมีนัย ท่ามกลางผลกระทบโดยตรงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 กดดันเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และความเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ ประเมินเศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตช้าสุดในรอบ 11 ปี


เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน หรือ SCB เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มชะลอตัวค่อนข้างมาก จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก และอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) และการจ้างงานที่ชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงรายประเทศที่ต้องเผชิญในปีนี้ โดยเฉพาะกัมพูชาจากการถูกเพิกถอนสิทธิ Everything But Arms (EBA) บางส่วนจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 63


ขณะที่ลาวมีความเปราะบางจากฐานะการคลังและระดับหนี้ต่างประเทศในระดับสูง สำหรับเมียนมาเผชิญความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 63 และเวียดนามจากผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรม โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ในปี 63 ลงอย่างมีนัย โดยเศรษฐกิจกัมพูชาจะชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรงโดยเติบโตเพียง 0.4% เทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบ 11 ปี



สำหรับเศรษฐกิจลาว เมียนมา และเวียดนาม จะเติบโตเพียง 2.0% 2.4% และ 3.0% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษของประเทศทั้งสาม อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลุ่มเศรษฐกิจ CLMV จะกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนหน้าที่ 5-7% ต่อปีอีกครั้งในปี 64 หากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศเหล่านี้และประเทศคู่ค้าสำคัญถูกควบคุมได้


ในส่วนของภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของภูมิภาคจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากมาตรการ lockdown เพื่อควบคุมการระบาด ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและการค้าโลกหดตัวในปี 2563 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออก โดยเศรษฐกิจเวียดนามและการจ้างงานน่าจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากพึ่งพาภาคส่งออกสินค้าในระดับสูง โดยมูลค่าส่งออกสินค้าของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 99% ของ GDP



โดยตัวเลขส่งออกล่าสุดของเวียดนามในเดือนเมษายนเริ่มส่งสัญญาณหดตัว -3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือกัมพูชาที่ภาคส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 46% ของ GDP โดยทั้งเวียดนามและกัมพูชาจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการหดตัวที่รุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงการชะลอตัวอย่างมากของเศรษฐกิจจีน เนื่องจาก 3 กลุ่มประเทศนี้เป็นตลาดส่งออกสำคัญมากกว่า 50% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ส่วนเศรษฐกิจลาวและเมียนมาที่แม้สัดส่วนภาคส่งออกต่อ GDP ไม่สูงมาก แต่น่าจะได้รับผลกระทบจากการลดลงของรายได้ในประเทศคู่ค้าเช่นกัน


สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และโครงการลงทุนภายในประเทศบางส่วนอาจถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยจากการประมาณการขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) คาดว่า FDI ทั่วโลกจะลดลงถึง 30-40% ในปี 63 โดยในกลุ่มประเทศ CLMV จากข้อมูลปี 61 กัมพูชามีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิต่อ GDP สูงที่สุด 13% ตามด้วยลาว 7% เวียดนาม 6% และเมียนมา 2% อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาลง กลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะเวียดนาม อาจได้รับผลบวกต่อเนื่องจากการที่บริษัทย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานการผลิตในจีน


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews