Phones





สนพ.รื้อโครงสร้างแข่งขันกิจการก๊าซฯใหม่

2020-05-27 15:47:55 474




นิวส์ คอนเน็คท์ - สนพ. ชี้อยู่ระหว่างจัดทำโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ รองรับการเปิดเสรีก๊าซ คาดเสนอ กบง.-กพช.ได้ ก.ค.นี้ ขณะที่ กกพ.ออกใบอนุญาต shipper รายใหม่ GULF บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง และBGRIM ถือเป็นการให้เอกชนมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม


เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ หลังจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ได้มอบหมายให้ สนพ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน


ทั้งนี้การปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซฯใหม่ จะต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน ว่าจะวางรูปแบบอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯ ซึ่งหลักการเดิมที่เคยเสนอ กพช. รับทราบไปนั้น การนำเข้า LNG ของ Shipper รายใหม่จะไม่ถูกนำมาคำนวนในสูตรราคาเฉลี่ยรวม (Pool Gas) ที่จัดหาจาก 3 แหล่ง คือ การจัดหาก๊าซฯในประเทศ,การซื้อก๊าซจากเมียนมา และนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ปัจจุบันดำเนินการโดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพียงรายเดียวก็ต้องดูว่าจะมีการปรับเปลี่ยนสูตรราคาก๊าซไปจากหลักการเดิมหรือไม่


ประกอบกับการพิจารณาโครงสร้างใหม่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของคุณภาพก๊าซฯผ่านระบบท่อของ ปตท.ด้วย โดยต้องอยู่บนหลักการสำคัญคือ 1.เกิดการแข่งขัน 2.ต้นทุนก๊าซฯต้องถูก เพื่อให้ประโยชน์ได้ประโยชน์จากต้นทุนอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดต่ำลงในอนาคต


แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาตินั้น สนพ.กำลังพิจารณาในหลายทางเลือก เช่นจะให้เป็นระบบ Third Party Access -TPA ที่จะเปิดให้โรงไฟฟ้าใหม่ ที่ยังไม่ได้มีสัญญาก๊าซผูกพันกับปตท.สามารถจัดหาหรือนำเข้า LNG ได้เอง โดยมีค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ทั้งท่าเทียบเรือ สถานีรับจ่าย โครงข่ายท่อส่งก๊าซ ในอัตราที่ทาง กกพ. เป็นผู้กำกับ ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวน Shipper รายใหม่ๆเข้ามาในระบบ ให้เกิดการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการเอกชนจะต้องมีส่วนรับความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70-80% ของต้นทุนโดยที่ไม่ผลักภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในรูปของค่าเอฟที


ส่วนอีกแนวทางคือให้ปตท.เป็น Single Buyer ในการรับซื้อก๊าซในดีมานด์ใหม่เข้าระบบ เช่นเดียวกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ที่ให้ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าแต่เพียงรายเดียว โดยเปิดให้มีการประมูลแข่งขันระหว่าง shipper ที่ได้รับใบอนุญาตจากกกพ.ซึ่งรวมทั้ง ปตท. ให้จัดหาก๊าซในราคาถูกที่สุด โดยในแนวทางนี้ จะไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพก๊าซ หรือค่า Wobbe index ในระบบท่อส่งก๊าซที่กระทบกับกลุ่มลูกค้าเดิมของปตท. เพราะ ปตท.ยังเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซและรักษาสมดุลของระบบท่อ ทั้งนี้โครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่นี้คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณา ภายในเดือน ก.ค.63 นี้


สำหรับการที่ กกพ. ออกใบอนุญาตเป็น shipper รายใหม่ ให้กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง (HKH) ซึ่ง GULF ถือหุ้น 49% และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM นั้น ถือเป็นการให้เอกชนมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม ส่วนในทางปฏิบัติว่าจะดำเนินการนำเข้าได้หรือไม่หรือในรูปแบบใดนั้น จะต้องรอดูความชัดเจนเรื่องนโยบายการเปิดเสรีก๊าซก่อน


 


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews