Phones





BGRIM จัดทัพเตรียมความพร้อมนำเข้าLNG

2020-06-02 09:29:10 424




นิวส์ คอนเน็คท์ – BGRIM เตรียมความพร้อม จัดหา LNG ซุ่มเจรจาผู้ผลิตต่างประเทศหลายราย พร้อมเสนอรัฐปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรรมชาติ สะท้อนราคาตลาด ยกเลิกราคาขาย SPP แพงกว่า IPP ส่วนธุรกิจไฟฟ้าเดินหน้าขยายลงทุนตามแผน ลั่นช่วงที่เหลือของปีนี้ปิดดีลซื้ออีกอย่างน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์


เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า ความพร้อมในการดำเนินธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาตินั้น บริษัทได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมานานแล้ว โดยการจัดตั้ง บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ให้เริ่มนำเข้าปี 65 เป็นปีแรก 3.5 แสนตัน ปีถัดไป 6.5 แสนตันต่อปี


ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่หลายรายในต่างประเทศเสนอจำหน่าย LNG ให้กับ BGRIM โดยเสนอในราคาที่ต่ำและจะเจรจาซื้อระยะยาว 10-15 ปี เนื่องจากในขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ซื้อ และเมื่อบริษัทซื้อก๊าซ LNG ราคาถูก ก็จะนำมาลดค่าไฟฟ้าให้กับลูกค้าต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับพร้อมในการเป็นผู้จัดหา BGRIM ยังได้จ้างบริษัท Wood Mackenzie จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการจัดหาก๊าซ LNG อีกด้วย

ส่วนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาตินั้น ภาครัฐควรพิจารณาปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซทั้งระบบ โดยราคาก๊าซฯ อ่าวไทย ไม่ควรอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน เพราะเมื่อราคาไม่สะท้อนราคาปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสับสับสนในความไม่สัมพันธ์ของต้นทุนที่ขึ้น-ลง ส่วนก๊าซฯที่ขายให้กับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ควรพิจารณาใหม่ เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าร้อยละ 70 มาจากค่าเชื้อเพลิงก๊าซฯ หากค่าก๊าซฯ ลดลงได้ ค่าไฟฟ้าก็จะลดลง และโรงไฟฟ้า SPP ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาก๊าซฯ ตลาดจรในโลกราคาเฉลี่ยในระดับ 2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถูกกว่าราคาในไทยที่เฉลี่ยทุกแหล่งอยู่ที่ราว 9 เหรียญต่อล้านบีทียู

สำหรับการดำเนินธุรกิจไฟฟ้านั้น บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผน ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 เมกะวัตต์ในปี 65 ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว 3,547 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3,019 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขยายการลงทุนทั้งสร้างโรงใหม่ และซื้อกิจการ ทั้งในไทยและต่างประเทศอยู่หลายโครงการ


โดยการซื้อกิจการในปีนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนอีกอย่างน้อยอีก 3 โครงการ คือ โรงไฟฟ้า SPP ในประเทศ 2 โครงการ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิต 200-250 เมกะวัตต์ในประเทศมาเลเซีย 1 โครงการ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเกาหลีใต้ ขนาดกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์เป็นการลงทุนใหม่คาดว่าจะลงนาม PPA ได้ปลายปีนี้ ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน (ไฮบริด) ในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาระยะที่1 แบ่งเป็นพลังงานความร้อนร่วม 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 15 เมกะวัตต์ และ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย คือ รอเซ็นสัญญาเช่าที่ดินกับกองทัพเรือ โดยมีสัญญา PPA แล้วคาดว่าจะสามารถเริ่มดเนินการก่อสร้างได้ปลายปีนี้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้า IPP เชื้อเพลิงก๊าซฯ ในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 3,000 เมกะวัตต์ คาดเซ็น PPA ได้ในปี 64


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews