Phones





กลุ่มBBSลงนามสัญญาพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ

2020-06-20 11:59:10 998




นิวส์ คอนเน็คท์ – กลุ่ม BBS ลงนามสัญญาพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ กับ สกพอ. คาดใช้เงินลงทุนราว 1.3 แสนล้านบาท พัฒนา 4 เฟส รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC



พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารนวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี


ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นั้นเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและภาคเอกชน โดยมีกรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรก




โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งขนส่งผู้โดยสาร และการค้นส่งสินค้า และแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ระยะ โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร มีหลุมจอดอากาศยาน 124 หลุมจอด เมื่อก่อสร้างเสร็จครบทุกระยะแล้วจะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารกว่า 60 ล้านคน สามารถให้บริการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง


นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ คลังสินค้า Cargo Village และ Free Trade Zone มีขนาดพื้นที่กว่า 470,000 ตารางเมตร ประมาณการขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Canter) มีขนาดพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร พร้อมกันนี้ยังได้จัดสรรพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรมกว่า 400,000 ตารางเมตร รวมทั้ง Business Park และ Airport City ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า และอาคารสำนักงาน

อย่างไรก็ตาม การประเมินเงินลงทุนทั้ง 4 ระยะนั้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมขั้นต้นราว 130,000 ล้านบาท แต่หากรวมค่าซ่อมบำรุงใหญ่ระยะเวลา 50 ปีจะอยู่ในระดับ 200,000 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบวงเงินลงทุนรวมที่รัฐกำหนด ส่วนการลงทุนในระยะที่ 1 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 30,000 ล้านบาท


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews