Phones





กนง.ตรึงดอกเบี้ย0.50% ประเมินจีดีพีปี63ติดลบ8.1%

2020-06-24 19:54:09 303




นิวส์ คอนเน็คท์ – กนง.ลงมติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หลังประเมินตัวเลขจีดีพีของไทยปี 63 ติดลบหนัก 8.1% มากกว่าที่คาดไว้เดิม -5.3% พร้อมมองนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และมาตรการด้านการคลังจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อกสนฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาด โดยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี63 ติดลบ 8.1% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5.3% แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3%  


อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มองว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64 แต่ในส่วนของเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยกนง.มองว่า จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมทั้งมาตรการด้านการคลังต่างๆ จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 คาดว่าจะติดลบ 1.7% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 1% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 64 จะอยู่ที่ 0.9% ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 0.1% และในปี64 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.1% ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 8 ล้านคน ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 15 ล้านคน ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 10.3% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.8% แต่ในปี 64 คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 4.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0.2%


ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ยังสามารถขยายตัวได้ โดยมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมสภาพคล่องในการรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และเพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอตัว ในส่วนของระบบการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ และครัวเรือนที่ลดลง โดยธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบระยะที่ 2 แล้ว  


อย่างไรก็ตาม กนง.จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews