Phones





BAY วางกลยุทธ์เข้าดูแลลูกค้า

2020-07-16 18:19:11 331




นิวส์ คอนเน็คท์ – BAY วางแผนงาน Commercial Banking ครึ่งปีหลัง เน้นมาตรการเชิงรุกให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมสนับสนุนโอกาสการเติบโตให้กับลูกค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ตอกย้ำพันธกิจ “Trusted banking partner” ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินแบบครบวงจร พร้อมจับมือ MUFG ต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้า


เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า กลยุทธ์กลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้า พร้อมกับการนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินแบบครบวงจรเพื่อช่วยในการบริหารสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงให้กับลูกค้า โดยธนาคารมีเป้าหมายสนับสนุนลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการสุขภาพ (Healthcare) และธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ (Hospitality) รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)


ทั้งนี้ ธนาคารเห็นความสำคัญในการร่วมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทางการเงิน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าธุรกิจในวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal โดยในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นสิ่งที่ลูกค้าธุรกิจมีความต้องการ ธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่องด้วยการให้บริการ Krungsri Business Empowerment ซึ่งเป็นกิจกรรมให้ความรู้ และกิจกรรมเครือข่ายธุรกิจมาเป็นรูปแบบออนไลน์ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าร่วมได้จากทุกที่


อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ติดต่อและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดทั้งในส่วนลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อรับรู้ถึงผลกระทบที่แท้จริงของลูกค้าและสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดยล่าสุด กรุงศรีพักชำระหนี้ให้กับลูกค้า กว่า 8,800 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 200,000 ล้านบาท และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ลูกค้ากว่า 6,300 ราย จำนวน 19,000 ล้านบาท


สำหรับแนวโน้มในภาพรวม ลูกค้ากลุ่ม Healthcare จะมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นจากกระแสการตื่นตัวด้านสุขภาพ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดและป้องกันเชื้อโรค ขณะที่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังการปรับช่องทางการจัดจำหน่ายในการจัดส่งอาหารให้ลูกค้า ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น สายการบินและโรงแรม จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อคดาวน์และจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ซึ่งธนาคารจะติดตามและดูแลให้การสนับสนุนที่เหมาะสมต่อไป


ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจได้จัดกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารพร้อมให้สินเชื่อเพิ่มเติม 2) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยถึงปานกลาง โดยธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ การลดภาระดอกเบี้ย และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และ 3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และการจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews