Phones





KBANK ตั้งสำรองฯเพิ่มฉุดกำไรร่วง

2020-07-20 16:44:51 262




นิวส์ คอนเน็คท์ – KBANK ประกาศผลงานไตรมาส 2/63 มีกำไรก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิต 25,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.37% แต่มีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต หลังประเมินความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 กดดันเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ส่งผลให้ตัวเลขกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ลดลง 70.08%


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/ 63 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 25,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ธนาคารได้มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้นจำนวน 8,320 ล้านบาท หรือ 70.08% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรสุทธิงวดไตรมาส 2/63 อยู่ที่จำนวน 2,175 ล้านบาท ลดลง 70.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน


สำหรับผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกของปี 63 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 45,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารจึงพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 16,937 ล้านบาท หรือ 111.97% ส่งผลให้กำไรสุทธิงวดครึ่งปีแรกลดลง 52.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน


ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,142 ล้านบาท หรือ 8.12% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม TFRS 9 ประกอบกับการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลง ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.34%


นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,812 ล้านบาท หรือ 7.00% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อลดลงจากการเปลี่ยนไปแสดงเป็นรายได้ดอกเบี้ย และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 475 ล้านบาท หรือ 1.41% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายกิจกรรมทางการตลาด


โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,585,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.86% จากสิ้นปี 62 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ในส่วนของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.92% โดยธนาคารได้มีการติดตาม ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 155.68% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามหลักเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 18.09% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.38%


อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 จะหดตัวลึกที่สุดของปี โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองของไทยและต่างประเทศท่ามกลางความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงอย่างมาก เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาลง ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ระดับ 0.50% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเริ่มใช้มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ รวมถึงวางแนวทางสำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews